อัพเดตคดี “คนอยากเลือกตั้ง” ผู้ต้องหาพุ่ง 106 คน

หลังจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่สรุปสถานการณ์คดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมาได้เพียงวันเดียว รุ่งขึ้นก็ปรากฏข่าว คสช.ได้ให้ พล.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งถึง 57 คน จากเหตุที่พวกเขาเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไปชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2561

นอกจากนั้น กลุ่มที่ไปชุมนุมที่พัทยายังถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพัทยา ออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 5 คน

ส่วนคดีการชุมนุมที่สกายวอล์คหน้าห้าง MBK ในส่วนของผู้ชุมนุม 28 คน (ไม่รวม 9 คนที่มีข้อหายุยงปลุกปั่น) ที่เหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ แม้ว่าอัยการจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว เพราะ ณ วันนี้ก็ยังต้องรอฟังกันอยู่ว่าอัยการสูงสุดจะมีความเห็นอย่างไรหลังจากเลื่อนมาแล้วหนึ่งครั้ง

สรุป ณ วันนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีถึง 106 คนแล้ว จากการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง หรือจะพูดให้ถูกต้องกว่า คือเรียกร้องให้ คสช. หยุดเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งล่าสุดก็ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีการเลื่อนออกไปอีกจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562  เนื่องจาก สนช.ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. จะบอกว่าไม่กระทบโรดแมปก็ตาม แต่หากดูการเลื่อนหลายครั้งหลายคราที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่มีอะไรรับประกันคำยืนยันเหล่านี้

แต่ คสช. ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ในผู้ชุมนุม 106 คน มีผู้ชุมนุมถึง 4 คน ที่มีคดีติดตัวถึง 4 คดี  อีก 11 คน ถูกดำเนินคดี 3 คดี และมีอีก 23 คน ที่ถูกดำเนินคดี  2 คดี เป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพของตนเท่านั้น ทั้งที่การเลื่อนเลือกตั้งหลายครั้งหลายคราล้วนไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับคนเหล่านี้โดยสิ้นเชิง ส่วนคดีเกิดขึ้นมาแล้วกระบวนการก็ยังคงเดินหน้าต่อไปในทุกคดี

อ่านเพิ่มเติม ความเห็นทางกฎหมายต่อกรณี คสช. ดำเนินคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง 106 ราย

 

MBK39: สกายวอล์คแยกปทุมวัน กรุงเทพฯ

หลังจากการชุมนุมที่กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่ม Start Up People จัดขึ้นเมื่อ 27 ม.ค. 2561 ที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน ผู้เข้าร่วมครั้งนั้นจำนวน 39 คน ถูกแจ้งความดำเนินคดีโดยพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช. แยกกันเป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มแรก ผู้ชุมนุม  30 คน ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาชุมนุมห่างจากเขตพระราชฐานไม่เกิน 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/58 เรื่องชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งในกลุ่มนี้มี 2 คน ที่รับสารภาพ และศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 วัน ปรับ 3,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี ส่วนอีก 28 คน ที่เหลือยังต้องรอฟังผลพิจารณาจากอัยการสูงสุดว่าจะมีความเห็นให้สั่งฟ้องกลับมาเป็นคดีอีกรอบหรือไม่ หลังจากเลื่อนฟังคำสั่งมาแล้วหนึ่งครั้งจากเมื่อวันที่ 2 เม.ย. เป็นวันที่ 23 พ.ค. 2561

 

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เข้าในการในฐานะพยานในคดี

 

ส่วนกลุ่ม 9 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ ถูกแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นอีก 1 ข้อหาด้วย และคดีอยู่อำนาจพิจารณาโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน และมีนัดส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนคดีให้อัยการในวันที่ 3 พ.ค.นี้ เพื่อให้อัยการพิจารณามีคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่

 

RDN 50: อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ

ส่วนคดีที่ตามมาจากการชุมนุม “หยุดยื้ออำนาจ หยุดยื้อเลือกตั้ง: หมดเวลา คสช.ถึงเวลาประชาชน” เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ที่จัดโดยกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่ม Start Up People ที่มีบุคคลที่เข้าร่วมถูกดำเนินคดีถึง 49 คน พวกเขาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ทั้งอัยการศาลแขวงดุสิตและอัยการศาลอาญาได้นัดฟังคำสั่งไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา

คดีนี้ แม้ว่าผู้ชุมนุมทั้ง 30 คน ได้ให้ทนายความยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดแล้วเนื่องจากเห็นว่าการดำเนินคดีกับพวกเขาไม่เป็นประโยชน์สาธารณะเช่นเดียวกับกรณี MBK39 แต่อัยการศาลแขวงดุสิตยังคงพิจารณาสั่งฟ้องผู้ชุมนุม 41 คน ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/58 ต่อศาลแขวงดุสิตแล้วและนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 4 มิ.ย. แต่เนื่องจากมีผู้ต้องหา 1 คน ติดธุระไม่สามารถมาฟังคำสั่งได้ จึงอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งอัยการในวันที่ 12 มิ.ย. ศาลจึงอาจสั่งให้เลื่อนการตรวจพยานหลักฐานออกไปเพื่อรวมคดี

ส่วนอีก 7 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำการชุมนุม อัยการได้สั่งฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ไปแล้ว 1 คน ในข้อหายุยุงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58  ศาลได้นัดถามคำให้การวันที่ 18 มิ.ย. 2561 ส่วนนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ ได้เข้าพบอัยการตามนัดของพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังอัยการได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 10 พ.ค.นี้

 

 

 

ทั้งนี้ อีก 5 คน ที่เหลือได้เคยทำหนังสือเลื่อนเข้าพบอัยการเอาไว้เป็นวันที่ 11 มิ.ย. แต่พนักงานสอบสวนได้ไปขอศาลออกหมายจับเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการออกหมายจับโดยให้เหตุผลว่าทั้ง 5 คน มีธุระที่ทำให้ไม่สามารถมาได้ และไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ต่อมาศาลยกคำร้องออกหมายจับของพนักงานสอบสวน และได้สั่งให้ผู้ต้องหามาพบอัยการในวันที่ 9 พ.ค. 2561

 

CMU06: หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หลัง ร.ท.เอกพล แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นผู้รับอำนาจเข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้จำนวน 6 คน ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 กับพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์  จากการที่พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” ใน “เทศกาลแห่งความหมดรัก” เรียกร้องให้มีเลือกตั้งที่บริเวณหน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

ต่อมาพวกเขาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนแล้ว หลังมีการส่งสำนวนให้อัยการ ทางผู้ต้องหายังได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการเช่นเดียวกับคดีอื่นๆ เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะและเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าอัยการจะมีคำสั่งอย่างไร โดยได้เลื่อนการฟังคำสั่งออกไปเป็นวันที่ 23 พ.ค. 2561

 

PTY12: หาดพัทยา ชลบุรี

หลังจากครั้งที่แล้วศูนย์ทนายความฯ ได้รายงานไปว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวน 7 คน ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมกิจกรรม “START UP PEOPLE ON TOUR: ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง ครั้งที่ 2” ที่จัดโดยกลุ่ม START UP PEOPLE ที่ชายหาดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล พัทยาบีช เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งอัยการว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ในวันที่ 10 พ.ค.2561 หลังจากที่พวกเขาได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการว่าการดำเนินคดีจะไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมา หมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาจากสภ.เมืองพัทยา ก็ถูกส่งไปถึงผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพิ่มอีก 5 คน ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 4 เม.ย. พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ การจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งผู้รับแจ้ง ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธทุกข้อหา ทำให้ในเวลานี้มีผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมครั้งนี้รวมทั้งหมด 12 คนแล้ว

 

 

 

ARMY57: กองทัพบก กรุงเทพ

24 มี.ค.2561 การชุมนุมเรียกร้องให้มีเลือกตั้งยังคงดำเนินต่อไป กิจกรรมครั้งนี้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และกลุ่ม Start Up People นัดรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ก่อนแล้วจึงเดินขบวนไปที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ทั้งนี้ระหว่างทางเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังไว้ตามจุดต่างๆ และประกาศตลอดเวลาให้ผู้ชุมนุมเดินบนทางเท้าและไม่กีดขวางการจราจรและจะเป็นการผิดเงื่อนไขที่ทางผู้จัดแจ้งการชุมนุมไว้ ซึ่งจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และยังมีการวางกำลังขัดขวางขบวนของผู้ชุมนุม อีกทั้งยังแจ้งว่าจะใช้เครื่อง LRAD เพื่อสลายการชุมนุม เนื่องจากมีการชุมนุมเกินเวลาที่ผู้จัดแจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ แต่ในวันนั้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ดำเนินการสลายการชุมนุมหรือจับกุมผู้ชุมนุม

 

 

จนวันที่ 30 มี.ค .2561 ปรากฏข่าวพ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่ไปร่วมกิจกรรมในวันนั้นทั้งหมด 57 คน ที่สน.นางเลิ้ง พวกเขาเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวนแล้ว ผู้ชุมนุมเกือบทั้งหมดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว โดยกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ 10 คน ถูกแจ้งข้อหามาตรา 116, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง, ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/58 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 15 (2), (4) มาตรา 16 (1),(8) มาตรา 18, พ.ร.บ.จราจรทางบก ม.108,114 (กีดขวางการจราจร)

ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม 47 คน ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1),(8) มาตรา 18 และพ.ร.บ.จราจรทางบก ม.108,114 (กีดขวางการจราจร)

ทั้งนี้ ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมและแกนนำ 46 คน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 และ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังพวกเขารับทราบข้อกล่าวหาพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องฝากขังกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาทั้ง 41 คน ต่อศาลแขวงดุสิต แต่ศาลยกคำร้องฝากขัง ส่วนนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ไม่เดินทางไปศาลตามที่พนักงานสอบสวนจะส่งตัวฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าหน้าที่ ส่วนกลุ่มแกนนำที่ถูกส่งฝากขังที่ศาลอาญา ศาลได้ยกคำร้องฝากขัง

แต่ยังมีผู้ถูกออกหมายเรียกอีก10 คน ได้ให้ทนายความทำหนังสือขอเลื่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 30 เม.ย.2561 (มีผู้ชุมนุม 1 คนที่ไม่สามารถติดต่อได้) แต่ในกลุ่มแกนนำมีเพียงรังสิมันต์ โรม ที่พนักงานสอบสวนให้เลื่อนเพียงคนเดียว เนื่องจากเดินทางอยู่ในต่างประเทศ แต่อีก 4 คน ที่เหลือพนักงานสอบสวนได้ไปขออำนาจศาลออกหมายจับ แต่ศาลยกคำร้องออกหมายจับ

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ทนายความได้รับทราบข้อมูลจากพนักงานสอบสวนสน.ชนะสงคราม ว่าทางพนักงานสอบสวนจะขออำนาจศาลแขวงดุสิตออกหมายจับผู้ชุมนุมอีก 7 คน ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์รวมอยู่ด้วย และศาลอนุมัติหมายจับ ทำให้ 3 ใน 7 คนเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาใน 23 เม.ย.ทันที หลังจากที่ทั้ง 3 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนยังได้ขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังด้วยแต่ศาลยกคำร้อง ในเวลานี้ผู้ต้องหาอีก 3 คน ที่เหลือมีโอกาสที่จะถูกจับกุมก่อนถึงวันที่ 30 เม.ย. ตามที่ได้ทำหนังสือขอเลื่อนเอาไว้

 

3 ผู้ต้องหาคดี ARMY57 คนอยากเลือกตั้งหน้ากองทัพบก ที่ถูกออกหมายจับ

จำนวนและรายชื่อ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่ถูกดำเนินคดี ณ วันที่ 27 เม.ย.2561 ทั้งหมด 106 คน
คนที่ถูกดำเนินคดี 4 คดี MBK39 – RDN50 – ARMY57 – PTY 7 = 4 คน

คนที่ถูกดำเนินคดี 3 คดี MBK39 – RDN50 – ARMY57 = 11 คน

คนที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี MBK39 – RDN50 = 6 คน

คนที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี MBK39 – ARMY57 = 3 คน

คนที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี RDN50 – ARMY57 = 9 คน

คนที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี ARMY57 – PTY = 3 คน

คนที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี RTA57 – CMU 6 = 1 คน

คนที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี RDN50 – PTY 7 = 1 คน

คนที่ถูกดำเนินคดีเฉพาะ MBK 39 = 15

คนที่ถูกดำเนินคดีเฉพาะ RDN 50 = 18

คนที่ถูกดำเนินคดีเฉพาะ RTA 57 = 26

คนที่ถูกดำเนินคดีเฉพาะ PTY 7 = 4

คนที่ถูกดำเนินคดีเฉพาะ CMU 6 = 5

คนที่ถูกดำเนินคดีมากกว่า 1 คดี = 38 คนคนที่ถูกดำเนินคดี 1 คดี = 68 คน

 

 

X