‘เอกชัย’ ถูกส่งเข้าเรือนจำ หลังศาลอนุญาตฝากขัง 12 วัน คดีอยากเลือกตั้ง ‘ARMY57’

13 พ.ค. 61 เวลา 11.00 น. พนักงานสอบสวนนำตัวเอกชัย หงส์กังวาน จาก สน.ชนะสงคราม ไปศาลอาญารัชดา เพื่อขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 หลังจับกุมตัวเอกชัยจากบ้านพักเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามหมายจับคดีแกนนำคนอยากเลือกตั้ง กรณีชุมนุมหน้ากองทัพบก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 หรือ “ARMY57” นำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา และควบคุมตัวในห้องขังของ สน.ชนะสงคราม รวม 2 คืน

โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาว่า ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2)(3), ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558, ร่วมกันชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน, เดินขบวนหลังเวลา 18.00 น., ไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมแจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 16 (1) (8), 18, ทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 วรรคแรก และร่วมกันชุมนุมกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 108, 114

ในชั้นสอบสวน เอกชัยไม่ให้การใด ๆ แก่พนักงานสอบสวน รวมทั้งไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม

พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ต่อศาล ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยยังจะต้องสอบพยานอีก 5 ปาก รอผลตรวจลายนิ้วมือผู้ต้องหา ทั้งยังระบุว่า หากมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหานี้ในชั้นศาล พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง กลุ่มผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีในฐานความผิดเดียวกันมาหลายครั้ง เกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในสำนวนคดี ผู้ต้องหายังมีพฤติการณ์นัดหมายชุมนุมสาธารณะกันอีกในวันที่ 21 พ.ค. 61 ซึ่งอาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนขึ้นได้

ทั้งนี้ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นคำร้องคัดค้านฝากขัง โดยมีเนื้อหาระบุว่า คดีนี้ไม่มีเหตุหรือความจำเป็นที่จะออกหมายขังผู้ต้องหาไว้  เนื่องจากพฤติการณ์ในคดีเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ  อันเป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ  ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งผู้ต้องหายังไม่ใช่แกนนำผู้จัดการชุมนุม  ผู้ต้องหาไม่สามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใด ๆ ได้ รวมทั้งภาพถ่ายหรือภาพบันทึกวีดีโอเหตุการณ์การชุมนุมก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้ว หากผู้ต้องหาต้องอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน  ย่อมจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินจำเป็น  นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังสร้างภาระเกินจำเป็นกับผู้ต้องหา ทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก

ต่อมา ศาลได้เรียกไต่สวนเอกชัย และพนักงานสอบสวน เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะอนุญาตฝากขังหรือไม่ โดยเอกชัยแถลงต่อศาลว่า การกระทำของตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เหตุที่ไม่ไปพบพนักงานสอบสวน เพราะเชื่อว่าการกระทำของตนไม่เป็นความผิด แต่ไม่ได้หลบหนีไปไหน จนกระทั่งถูกจับกุมที่บ้าน หลังจากนี้เมื่อกระบวนการเข้าสู่อำนาจศาลแล้ว ตนก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามที่เจ้าพนักงานพนักงานสอบสวนมีคำสั่งต่อไป เช่นเดียวกับที่ปฏิบัติในคดีอื่น ๆ โดยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีมาก่อน

ด้านพนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลว่า สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ที่บ้าน แต่ผู้ต้องหาไม่ยินยอมออกมาจากบ้าน ทั้งล็อคประตูหน้าบ้าน จนกระทั่งเจ้าพนักงานตำรวจต้องมาขอหมายค้นอีก จึงสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ โดยก่อนออกหมายจับ พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้มาพบ 2 ครั้ง แต่ผู้ต้องหาไม่มาพบ พนักงานสอบสวนจึงขอออกหมายจับต่อศาลนี้ แต่ศาลมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกไปอีก 2 ครั้ง ผู้ต้องหาก็ยังไม่มาพบพนักงานสอบสวนเช่นเดิม จนกระทั่งมีการออกหมายจับ เชื่อว่าหากไม่ได้มีการฝากขังผู้ต้องหา ผู้ต้องหาก็คงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจอีกเช่นเดิม

เวลา 14.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขังผู้ต้องหามีกำหนด 12 วัน  ตั้งแต่วันที่ 13 – 24 พ.ค. 61 ตามที่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้อง โดยระบุในคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนมีหมายเรียก ไปยังผู้ต้องหา 2 ครั้ง ก่อนขอออกหมายจับในคราวแรก และศาลมีคำสั่งให้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 2 ครั้ง ผู้ต้องหาก็ยังคงไม่ไปพบพนักงานสอบสวน จนกระทั่งมีการออกหมายจับและมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องหามีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากศาลไม่อนุญาตให้ฝากขังเชื่อว่าผู้ต้องหาจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจอีก จึงให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ต้องหา และคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูง เกิน 3 ปี ซึ่งมีหลักฐานตามสมควรว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดดังกล่าว จึงอนุญาตให้ขังได้ตามขอ

หลังจากศาลมีคำสั่ง เอกชัยถูกควบคุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยในวันนี้ทนายความยังไม่ได้ยื่นประกันตัว และเนื่องจากพรุ่งนี้ (14 พ.ค. 61) เป็นวันหยุด การยื่นประกันตัวก็จะทำได้ในวันที่ 15 พ.ค. อย่างไรก็ดี หากเอกชัยไม่ประสงค์จะยื่นประกันตัว ในชั้นสอบสวนนี้ ก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้อง ศาลจะมีอำนาจขังได้ 4 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 12 วัน รวมไม่เกิน 48 วัน  เนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึง 10 ปี

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญารัชดาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตฝากขัง 9 ผู้ต้องหา ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำชุมนุมหน้ากองทัพบก และถูกตั้งข้อหาเช่นเดียวกับเอกชัย รวมทั้งไม่อนุญาตฝากขังผู้ร่วมชุมนุมอีก 46 คน โดยทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนตามที่มีหมายเรียก รวมทั้งมี 5 ราย เข้าพบพนักงานสอบสวนหลังมีหมายจับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ศาลยกคำร้องฝากขัง 5 แกนนำ คดีคนอยากเลือกตั้ง ARMY57

ยกคำร้องฝากขัง 4 แกนนำคนอยากเลือกตั้งกองทัพบก ARMY57

ศาลสั่งปล่อยผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้งกองทัพบก

ศาลยกคำร้องฝากขัง 3 ผู้ต้องหา ARMY57 หลังถูกออกหมายจับ

‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ถูกควบคุมตัวไว้ที่สน.ชนะสงคราม ตามหมายจับคดี ‘Army57’

 

X