สภ.วานรฯ เรียก 2 ชาวบ้านค้านโปแตช รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มข่มขืนจิตใจ

ชาวบ้านวานรถูกออกหมายเรียกเพิ่มหลังออกมาคัดค้านการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตชวานร ยืนยันในวันดังกล่าวไม่ได้มีการขมขู่ คุกคามหรือทำร้ายใคร

วันนี้เวลา 17.30 น. ศูนย์ทนายฯ  ได้รับรายงานว่าสถานีตำรวจภูธรวานรนิวาส มีหมายเรียกให้ สุดตา คำน้อย และจิตรกรณ์ น้อยตาแสง 2 ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านแตชวานรนิวาส จ.สกลนคร เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 17 พ.ค.61 (พรุ่งนี้) ในข้อหาร่วมกันข่มขืนจิตใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดๆ จากกรณีคัดค้านการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมหลุมที่ 4 ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 9-15 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบริษัทดังกล่าวได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช พื้นที่ประมาณ 120,000  ไร่ จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อปี พ.ศ.2558 ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการขุดเจาะสำรวจไปแล้ว 3 หลุม ในเขต ต.วานรนิวาส โดยก่อนหน้านี้เมื่อวาน (15 พ.ค. 60) ชาวบ้านทั้งสองคนเพิ่งถูกแจ้งข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

กรณีกังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 9 พ.ค. บริษัทฯได้ทำการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแตช เข้าไปในพื้นที่หลุมสำรวจที่ 4 โดยชาวบ้านไม่ทราบว่าจะมีการขนอุปกรณ์ จึงออกมาคัดค้านและปักหลักอยู่จนถึงวันที่ 14 พ.ค. บริษัทจึงยอมขนอุปกรณ์กลับ โดยการออกมาชุมนุมคัดค้านในครั้งนี้ ชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอให้กับนายอำเภอ 2 ข้อ  โดยระบุว่า 1) ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ของบริษัท และหากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลนครไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ขอให้ทำการสอบสวนทางวินัยเพื่อเอาผิดตามกฎหมาย 2) ให้ทบทวนและตรวจสอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรังวัดกำหนดเขตคำขอตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ว่า พื้นที่ที่ยื่นคำขอเป็นพื้นที่ที่ห้ามยื่นขอตามกฎหมายว่าด้วยแร่หรือกฎหมายอื่นหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่สำรวจโปแตชอยู่ใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำซับน้ำซึม ก่อนจะทำการสำรวจอีกครั้ง

ทั้งนี้ขณะที่ชาวบ้านปักหลักชุมนุมไม่ได้มีการใช้เครื่องเสียง และเป็นการชุมนุมในที่ส่วนบุคคล ซึ่งนั่งอยู่ริมขอบของถนน อีกทั้งขณะที่ชุมนุมก็มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา นกจากนี้วันที่ 10 ก.พ. ยังมีหนังสือตอบรับจากนายอำเภอกรณีที่ชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอไป ในหนังสือตอบรับดังกล่าวนอกจากจะระบุว่าเจ้าหน้าที่จะนำเรื่องแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังระบุอีกว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีเหตุรุนแรง

อย่างไรก็ตาม แม้ในหนังสือของทางราชการจะยืนยันว่าการชุมนุมของชาวบ้านเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และแม้จะมีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจคอยเฝ้าอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่ได้การันตีว่าชาวบ้านจะปลอดภัยจากการถูกแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าไปเฝ้าชาวบ้านทุกวันขณะที่ปักหลักชุมนุมนั้น ไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยไม่ให้เกิดความวุ่นวายหรือไปเพื่อจับผิดจับผิดเท่านั้น

ทั้งนี้ปัจจุบันใน จ.สกลนคร มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับ พร.บ.ชุมนุมฯ แล้ว ุ6 ราย จาก 4 คดี ซึ่งล้วนแต่เป็นการใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กับการแสดงออกเพื่อคัดค้านการสำรวจโปแตชทั้งสิ้น โดยมี

  • กรณีออกมาเดินรณรงค์คัดค้านโปแตชใน อ.วานรฯ หลังจากนั้น ตำรวจแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฐานจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้งกับผู้ร่วมเดิน 2 ราย และเปรียบเทียบปรับคนละ 10,000 บาท
  • กรณีนายศตานนท์ ชื่นตา ที่ถูกกล่าวหาว่าหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จากกรณีที่ชาวบ้านวังบง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ได้จัดขบวนแห่เพื่อเชิญชวนคนเข้าร่วมงาน “สืบชะตาห้วยโทง” เมื่อวันที่ 12 มี.ค.60 ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอัยการ
  • กรณีของนายอชิตพล คู่กะสัง ถูกกล่าวหาว่าหาว่า เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า 24 ชั่วโมง จากกรณีเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 60 ชาวบ้านได้ชุมนุมประท้วงเพื่อคัดค้านหลุมขุดเจาะสำรวจโปแตชของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า จำกัด ที่ตั้งอยู่ในที่ดินติดกับถนนสายวานรนิวาส-บ้านธาตุ ต.ธาตุ ปัจจุบันคดีนี้สิ้นสุดแล้วอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
  • กรณีคัดค้านการขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจโปแชวานรหลุมที่4 เมื่อวันที่ 9-14 พ.ค. โดยสุดตา คำน้อย และจิตรกร น้อยตาแสง ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดการชุมมนุมและร่วมกันข่มขืนจิตใจผู้อื่น ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดๆ จากการออกมาคัดค้านโปแตชวานร

 

 

X