มองทหาร-ตำรวจตระเวนเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะปฏิบัติการจิตวิทยา #ปจว.

“กรณีที่นักศึกษาอ้างว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่นั้น ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการกฎหมาย ถ้านักศึกษาทำผิด ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ต้องการเข้าไปติดตามนักศึกษา เพียงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา ไม่ได้นำอาวุธยุทโธปกรณ์หรือรถถังเข้าไป”

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชูป้ายประท้วงต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามไปคุกคามที่บ้านและมหาวิทยาลัย (11 เม.ย. 2561)

 

นอกจากผู้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้คสช. กำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจนและยุติการสืบทอดอำนาจ หรือที่ถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “คนอยากเลือกตั้ง” จะถูกดำเนินคดีจำนวนถึง 106 คน แล้ว หากตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ ยังมีรายงานกรณีประชาชนผู้เคยเข้าร่วมการชุมนุมหรือนักศึกษาที่แสดงออกทางการเมือง ได้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วย ทั้งทหารและตำรวจ เข้าติดตามที่บ้านหรือมหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ โดยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายคนตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ดูบางส่วนในรายงาน ปฏิบัติการเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง เพิ่มอุณหภูมิแล้งร้อนให้ประเทศไทย)

แม้นายทหารผู้เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะชี้แจงบางเหตุการณ์ไว้ว่าเป็นเพียง “การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา” แต่คำถามที่น่าไถ่ถามต่อ คือการเดินทางไปที่บ้านหรือมหาวิทยาลัยเพื่อติดตามผู้แสดงออกทางการเมืองนั้น เป็น “การปฏิบัติหน้าที่” อะไรของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ? เราจะเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้ ในช่วงก่อนการชุมนุมรำลึก 4 ปี การรัฐประหารที่กำลังจะมาถึงได้อย่างไรบ้าง?

รายงานชิ้นนี้ทดลองทำความเข้าใจปฏิบัติการของทหารหรือตำรวจในการติดตามผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ผ่านแว่นของการดำเนินการ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” ซึ่งเป็นความรู้และปฏิบัติการทางการทหารรูปแบบหนึ่ง พร้อมกับเชื่อมโยงปัญหาการใช้ปฏิบัติการเหล่านี้เข้ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

 

ทำความรู้จัก “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.)

ปฏิบัติการจิตวิทยา หรือ “ปจว.” (Psychological Operations – PSYOP) หรือบางทีก็ถูกเรียกสลับไปมากับคำว่า “สงครามจิตวิทยา” (Psychological Warfare) เป็นส่วนหนึ่งของวิชาและความรู้ในหลักสูตรทางการทหาร มีที่มาและถูกพัฒนาขึ้นให้เป็นระบบสำหรับทหารโดยกองทัพของสหรัฐอเมริกา

เอกสารการเรียนการสอนของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ระบุความหมายของปฏิบัติการจิตวิทยาว่าหมายถึงการสงครามจิตวิทยา และกิจกรรมทางจิตวิทยาอื่นๆ ที่ได้วางแผนไว้แล้ว โดยมุ่งที่จะให้มีอิทธิพลต่อความคิดเห็น อารมณ์ ท่าที ทัศนคติ และพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายเป็นกลาง และฝ่ายเดียวกัน ในหนทางที่จะให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของชาติ

พื้นฐานของการใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาทางทหาร คือการเห็นว่าในการทำสงครามหรือต่อสู้ระหว่างกำลังสองฝ่าย มาตรการสำคัญที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกำลังและอาวุธเท่านั้น พลังทางจิตวิทยายังเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่ง  เอกสารของโรงเรียนนายร้อยฯ ดังกล่าวได้ยกตัวอย่างเวลาปลากัดจะกัดกัน สีของมันจะเข้มข้น ครีบหางแผ่ และเกล็ดพอง หรือเวลาวัวชนกัน มักจะกระทืบพื้น นักมวยจะชกกันต้องมีการไหว้ครู หรือทำท่าจดจ้อง ย่างสามขุม เหตุผลของกิริยาเหล่านี้ ก็เพื่อข่มขวัญ หรือทำลายอำนาจจิตของฝ่ายตรงข้าม ให้เกิดความหวั่นไหว ลังเล หรือตกใจ และลดกำลังใจในการสู้รบลง

วัตถุประสงค์ของการดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยาที่สำคัญที่สุด คือเพื่อให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายเป็นกลาง ให้มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจของฝ่ายตน  นอกจากนั้นอาจมีวัตถุประสงค์ย่อยอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพทางขวัญ ทั้งฝ่ายศัตรู ฝ่ายเรา, เพื่อสามารถลดประสิทธิภาพทางการรบของฝ่ายศัตรูลงไปได้ หรือยุยงให้เอาใจออกห่างทหารฝ่ายศัตรู เป็นต้น

 

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการจิตวิทยา พูดผ่านเครื่องขยายเสียงกับประชาชนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมเปิดเพลงคืนความสุข ขณะยังมีกระแสต่อต้านการรัฐประหาร  วันที่ 8 มิ.ย. 2557 (ภาพจาก ARM WORAWIT)

 

ในจุลสารความมั่นคงศึกษา (มิ.ย. 2553) ซึ่งมีสุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพศึกษาคนหนึ่งเป็นบรรณาธิการ ระบุถึงหลักการสำคัญของปฏิบัติการจิตวิทยา คือการเข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม อาจดำเนินการด้วยการข่มขู่ (intimidating) การทำให้เสียขวัญ (demoralizing) การทำให้ไม่สามารถมองเห็นความเป็นจริง (mystifying) การชี้นำในทางที่ผิด (misleading) และการสร้างความประหลาดใจ (surprising)  ปฏิบัติการนี้จึงมีความแตกต่างจากการประชาสัมพันธ์ ที่เน้นการนำเสนอและสร้างความเข้าใจให้ผู้รับสารเพียงอย่างเดียว ขณะที่ปฏิบัติการจิตวิทยามีบทบาทในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจหลีกเลี่ยงแนวทางปฏิบัติการที่ฝ่ายเราได้กำหนดไว้ และให้ความร่วมมือด้วย

รูปแบบการปฏิบัติการจิตวิทยาในสงคราม อาทิเช่น การยุยงด้วยการใช้สื่อประเภทต่างๆ ทำให้ทหารชั้นผู้น้อยของฝ่ายตรงข้ามไม่เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาของเขา, การทำให้เกิดการเดินขบวนของประชาชนในการต่อต้านรัฐบาลของตนเอง หรือการสร้างความหวาดกลัวด้วยการใช้ใบปลิวหรือสื่อต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้ข้าศึกยอมแพ้โดยไม่ต้องทำการรบ นอกจากนั้นการใช้โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ยังเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งของปฏิบัติการทางจิตวิทยาด้วย

 

 

ภาพเจ้าหน้าที่กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา ร้องเพลงและทำกิจกรรมร้องเพลงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังการรัฐประหาร วันที่ 11 มิ.ย. 2557 (ภาพจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ)

 

ภายในกองทัพไทยเองก็มีการใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือบทบาทของกองพันปฏิบัติการจิตวิทยา (พัน.ปจว.) ซึ่งสังกัดอยู่ภายใต้กองทัพบก และตั้งหน่วยประจำอยู่ที่ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี

ช่วงหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ใหม่ๆ กองพันนี้มีบทบาทในการเข้าไปเป็นกลไกปฏิบัติการหนึ่งในการระงับการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร อาทิ การเข้าไปช่วยประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กองทัพ โดยมุ่งชี้แจงต่อประชาชนที่อยู่รอบๆ บริเวณการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร, การจัดวงดนตรีทหารเข้าไปช่วยประชาสัมพันธ์เรื่อง “การคืนความสุข”, การจัดชุดปฏิบัติการจิตวิทยาออกไป “พบปะ” ประชาชนหรือส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งการเข้าไปฝึกระเบียบวินัยให้นักเรียนในโรงเรียน และการจัดรายงานวิทยุเพื่อความมั่นคงต่างๆ  (ดูในรายงานโดยโพสต์ทูเดย์ “พ.ท.ชัยภัทร หริกุล เปิดหลังม่าน”มหกรรมคืนความสุขให้ประชาชน“”)

นอกจากนั้น งานทางด้านปฏิบัติการจิตวิทยายังถูกแทรกอยู่ในหน่วยต่างๆ ของกองทัพ อาทิเช่น ในหน่วยที่เกี่ยวกับกิจการพลเรือน ทั้งในกองบัญชาการทหารสูงสุด และกองทัพทั้งสามเหล่าทัพ หรือภายในโครงสร้างกองบัญชาการกองทัพไทย ยังได้มีการจัดตั้งสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง อยู่ภายใต้สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ทำหน้าที่ด้านการศึกษาอบรมและวิจัยเกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารและปฏิบัติการจิตวิทยาอีกด้วย

 

การบุกเยี่ยมบ้านแสดงตัวสอดส่อง ในฐานะปฏิบัติการจิตวิทยา

แม้ปรากฏการณ์ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเข้าไปติดตามกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ทั้งที่บ้านและมหาวิทยาลัยตลอดเดือนกว่าที่ผ่านมา รวมไปถึงกรณีที่ทหารเข้าติดตามบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนมากตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหาร จะไม่ได้มีการระบุต่อสาธารณะว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยาโดยตรง แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายกรณี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการไป “หาข่าว”“ขอข้อมูล” หรือ “พูดคุยทำความเข้าใจ” ดังที่เจ้าหน้าที่มักกล่าวอ้างเท่านั้น หากกลับมีลักษณะของการไปกดดัน ข่มขู่ หรือข่มขวัญให้เกิดความหวาดกลัวอย่างชัดเจน

รูปแบบที่สะท้อนการข่มขู่กดดันดังกล่าว จนพิจารณาได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการจิตวิทยา อาทิเช่น การมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปที่บ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งทหารและตำรวจ เพื่อติดตามบุคคลเพียงคนเดียว (หลังรัฐประหารใหม่ๆ มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า 30-40 นาย บุกไปที่บ้านของแกนนำคนเสื้อแดงในหลายจังหวัด)

ลักษณะการแสดงกำลังนั้น นับเป็นลักษณะของปฏิบัติการจิตวิทยาแบบหนึ่ง กล่าวสำหรับกองทัพโดยทั่วไป ปฏิบัติการอย่างการสวนสนาม การซ้อมรบโดยเปิดเผย หรือการแสดงแสนยานุภาพในลักษณะต่างๆ มีความสำคัญทางจิตวิทยาในแง่เป็นการแสดงให้ฝ่ายตรงข้ามเห็นถึงพละกำลังหรือแสนยานุภาพที่เหนือกว่า และป้องปรามฝ่ายตรงข้าม ไม่ให้กระทำการใดๆ ที่ฝ่ายตนไม่ต้องการ การนำกำลังเจ้าหน้าที่ 6-7 นาย ไปพบคนอยากเลือกตั้งเพียงคนเดียว จึงดูจะเข้าข่ายลักษณะการกระทำนี้

 

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปพบ “อมรัตน์” หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่บ้าน วันที่ 27 เม.ย. 2561

 

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ ยังเกิดขึ้นในรูปแบบของการเดินทางไปพบโดยไม่ได้มีการนัดหมายใดๆ ล่วงหน้า ทั้งที่ผู้ถูกติดตามหลายคน เจ้าหน้าที่ก็มีช่องทางติดต่ออยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดลักษณะเป็นการจู่โจมของเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้ถูกไปพบไม่ได้ตั้งตัว เกิดความตกใจหรือเสียขวัญในการเดินทางมาของเจ้าหน้าที่โดยไม่ได้นัดหมาย

นอกจากนั้น ในหลายกรณีเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มุ่งจะพบตัวบุคคลที่ติดตามให้ได้ เป็นแต่เพียงการแสดงตัวให้เห็นหรือให้รับรู้ว่ากำลังมีการติดตามหรือจับตาอยู่ โดยไม่ต้องเข้าไปพูดคุยหรือพบกับเจ้าตัวโดยตรง  บางกรณีที่มีการใส่เครื่องแบบเพื่อแสดงตัว ยังเป็นการแสดงให้คนในชุมชนรอบๆ บ้านได้พบเห็นอีกด้วย

อาทิเช่น กรณีของเนติวิทย์และธนวัฒน์ สองนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ประสบเหตุการณ์ที่มีชายขับรถยนต์สีดำปิดทึบ คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มาสอบถามหาที่พักจากเพื่อนของทั้งสองคนในมหาวิทยาลัยตอน 22.00 น. โดยในช่วงหัวค่ำก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์ถามถึงที่พักของเนติวิทย์ด้วยแล้ว

หรือในกรณีของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เดินทางไปที่ภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าหน้าที่เดินทางไปโดยไม่ได้มีการนัดหมายกับใครล่วงหน้า และไม่ระบุแน่ชัดว่าต้องการพบใคร แต่ถามหาหัวหน้าภาควิชา เมื่อเธอไม่อยู่ จึงพยายามไปสอบถามว่าจะมีนักศึกษาไปร่วมงานวันที่ 22 พ.ค. หรือไม่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ก็มีช่องทางติดต่ออาจารย์ของภาควิชาไว้อยู่แล้วก่อนหน้านั้น

ในกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ถูกดำเนินคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ก็ได้มีเจ้าหน้าที่เดินทางไปหาที่บ้านซึ่งอยู่อีกจังหวัดหนึ่งถึงสองครั้งในเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่รู้ว่านักศึกษารายนั้นได้ไปศึกษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่เจ้าหน้าที่เลือกจะมาแสดงตัวที่บ้านอีกจังหวัดหนึ่งซ้ำๆ เพื่อสอบถามข้อมูลสั้นๆ จากญาติของนักศึกษารายนั้น พร้อมกับอ้างถึงคำสั่งของ “นาย” ให้มาติดตาม

 

โพสต์เรื่องราวของณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์” หนึ่งในผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561

 

นอกจากนั้น ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นหลายกรณียังมีลักษณะมุ่งต่อบุคคลแวดล้อม เจ้าหน้าที่มักจะเข้าไปพูดคุยหรือแสดงตัวกับคนแวดล้อม เช่น ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือผู้นำในชุมชน โดยไม่ได้เข้าไปพูดคุยกับบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยตรง ปฏิบัติการลักษณะนี้นำไปสู่การเกิดแรงกดดันจากบุคคลรอบตัวต่อผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ครอบครัวห้ามปรามนักศึกษา หรือทำให้บุคคลนั้นกลายเป็นที่จับตาของชุมชนที่ตนสังกัด

กรณีการละเมิดสิทธิโดยการคุกคามญาติพี่น้องนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ แล้ว (ดูเรื่องนี้เพิ่มเติมในรายงาน) จนถึงปัจจุบัน นักศึกษาหรือนักกิจกรรมที่ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบครอบครัวที่บ้านอยู่เป็นระยะ อาทิเช่น ชลธิชา แจ้งเร็ว หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางมาพบมารดาของเธอที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครอบครัวเคยเกิดความเครียดและวิตกกังวล จากภาวะการคุกคามความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (ดูเรื่องเล่าบางส่วนของเธอ)

ส่วนกรณีการคุกคามบุคคลแวดล้อมของคนอยากเลือกตั้งในช่วงเดือนที่ผ่านมา อาทิเช่น กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยาที่เคยไปร่วมชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง นอกจากถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลไปพบที่บ้าน เจ้าหน้าที่ยังไปพบผู้ใหญ่บ้าน เพื่อขอให้มาคุยกับที่บ้านของนักศึกษา ให้หยุดการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย  หรือกรณีของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ไปชูป้าย “ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)” ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่พยายามขอข้อมูลส่วนตัวและเข้าพูดคุยกับครอบครัวที่บ้านด้วย รวมทั้งกรณีของเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตำรวจนอกเครื่องแบบได้เดินทางไปที่บ้าน เมื่อได้พบภรรยา ก็ได้แจ้งขอพูดคุยเรื่องการเมือง ภรรยาจึงแจ้งให้ไปพบที่มหาวิทยาลัย พร้อมกับให้เบอร์โทรศัพท์ไป แต่ก็ไม่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปพบเดชรัตน์ที่มหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

ตัวอย่างที่น่าสนใจซึ่งสะท้อนลักษณะการดำเนินการในลักษณะปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างชัดเจน คือกรณีของศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 2 นาย เข้าไปติดตามยังห้องพักที่อยู่ตามบัตรประชาชน พร้อมเข้าสอบถามเพื่อนของศรีไพรถึงข้อมูลส่วนตัว ฝากห้ามไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง ทหารยังถ่ายรูปห้องพัก และพยายามขอเบอร์โทรศัพท์และถ่ายรูปเพื่อนรายนั้น นอกจากนั้น ในช่วงเย็นยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 6-7 นาย เดินทางมาที่ห้องซ้ำอีกด้วย แม้จะไม่เจอเธอเลยก็ตาม

“ศรีไพร กล่าวว่าปกติหากเจ้าหน้าที่จะพบกับตนจะโทรตามเพื่อให้ไปพบเอง แต่ครั้งนี้มาถึงห้อง พร้อมนอกเครื่องแบบด้วย ตนไม่รู้ว่าเขามาทำไม ก่อนวันแรงงาน ทั้งตำรวจและทหารก็เรียกตนไปพบที่โรงพัก เขาก็มีเบอร์โทรติดต่อ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาที่บ้าน และตำรวจก็มาจำนวนมาก จึงไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมากันขนาดนี้ด้วย” (ดูในรายงานข่าว ‘ทหาร-ตร.’ เข้าคุยคนงานรังสิตถึงห้องพัก บอกไม่อยากให้ร่วม ‘คนอยากเลือกตั้ง’)

ทำไมเจ้าหน้าที่จึงไม่ติดต่อนัดหมายมาหากต้องการพบ และทำไมต้องนำกำลังจำนวนมากเข้ามาติดตามผู้หญิงในกลุ่มแรงงานเพียงคนเดียวซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่ได้พบตัว  หากคิดภายใต้การดำเนินพูดคุย “ทำความเข้าใจ” ตามที่ทหารมักกล่าวอ้าง อาจจะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ชัดเจนเลย แต่หากพิจารณาภายใต้การดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยาแล้ว น่าจะช่วยทำให้ “เข้าใจ” การกระทำของเจ้าหน้าที่ได้ชัดเจนขึ้น

 

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไปที่บ้านของครอบครัว “จตุพล” หนึ่งในนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 11 เม.ย. 2561

 

ปฏิบัติการจิตวิทยาเหล่านี้ ยังเกิดขึ้นในรูปแบบที่เจ้าหน้าที่รัฐรุกล้ำเข้าไปถึงพื้นที่ส่วนบุคคลของพลเมือง อย่างที่บ้าน ห้องพัก ที่ทำงาน หรือการเข้าไปแสดงออกในลักษณะการขอข้อมูลส่วนบุคคลจากมหาวิทยาลัยหรือจากญาติ (ทั้งที่ข้อมูลหลายอย่างเจ้าหน้าที่ก็ดูเหมือนจะทราบดีอยู่แล้ว) ก็นับได้ว่าเป็นการสอดส่องเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคล ทำให้ผู้ถูกติดตามรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย-ความไม่มั่นคงในชีวิต

รวมถึงการเข้าถ่ายรูปภาพในลักษณะต่างๆ ทั้งตัวบุคคล ญาติ หรือบ้าน-ที่พัก ก็แสดงถึงการกำลังจับตาสอดส่อง และล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว กระทั่งเนื้อตัวร่างกายของพลเมืองเองอีกด้วย

นอกเหนือจากการบุกเยี่ยมบ้าน ตลอดเดือนที่ผ่านมา ทาง คสช. และกองทัพ ยังให้ข่าวในลักษณะข่มขู่-ป้องปรามต่อผู้ร่วมกิจกรรมชุมนุมหรือคิดจะเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น หัวหน้าคสช.เตือนเรื่องการชุมนุมจะทำให้ไม่สงบ และจะยิ่งไม่ได้เลือกตั้ง, ผบ.ทบ.ระบุเรื่องการเคลื่อนขบวนการชุมนุมจะผิดกฎหมาย ดำเนินคดีแกนนำ, เลขาฯ สมช. กล่าวอ้างเรื่องการให้ย้อนดูความไม่สงบเรียบร้อยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว จึงไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลาย, รองผบ.ตร.ให้ความเห็นว่าการชุมนุมระวังตกเป็นเครื่องมือของบุคคลที่ 3 เข้ามาแอบแฝง เป็นต้น

การชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศซึ่งไทยเป็นภาคี การเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย การออกมาป้องปรามโดยพร้อมเพรียงกันเหล่านั้น ดูจะมีลักษณะของการข่มขวัญเพื่อไม่ให้มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทั้งอาจถูกดำเนินคดี หรือบิดผันข้อมูลในลักษณะว่าจะเกิดความไม่สงบต่างๆ ขึ้น

การดำเนินคดี ปฏิบัติการคุกคามของเจ้าหน้าที่ และการแสดงความคิดเห็นของฝ่ายทหาร โดยรวมแล้ว จึงไม่ได้ส่งผลเพียงต่อบุคคลที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนอยากเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ยังถูกมุ่งทำให้มีอิทธิพลทางจิตวิทยาต่อประชาชนทั่วไปที่ได้รับทราบข่าวสาร ซึ่งแม้จะเห็นด้วยกับการเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้ง แต่เมื่อเห็นถึงการถูกคุกคาม การถูกดำเนินคดี ก็มีแนวโน้มจะทำให้พลเมืองเหล่านั้นไม่กล้าออกไปร่วมชุมนุมหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ในทางสาธารณะอีกด้วย

 

ปฏิบัติการจิตวิทยา กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

จะเห็นได้พื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของการดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยา คือการแบ่ง “ฝ่ายเรา” ออกจาก “ฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรู” ปฏิบัติการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ “ฝ่ายเรา” มีความเหนือกว่าฝ่ายตรงข้าม ทั้งในแง่ของการลดทอนประสิทธิภาพ/ขวัญกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม และสร้างเสริมประสิทธิภาพ/ขวัญกำลังใจของฝ่ายตนเอง เพื่อให้เอาชนะในทางการรบในที่สุด

หลักการพื้นฐานนี้อาจดูไม่ผิดแปลกอะไร เมื่อคิดถึงการนำมาใช้ในการสงคราม หรือในการต่อสู้กับอริราชศัตรู แต่คำถามตัวใหญ่ๆ คือเป็นสิ่งสมควรหรือไม่ที่กองทัพจะนำปฏิบัติการจิตวิทยามาใช้กับพลเมืองภายในประเทศของตนเอง ทั้งยังเป็นพลเมืองที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายหรือกองกำลังติดอาวุธใดๆ เป็นเพียงแต่ผู้แสดงออกทางการเมืองโดยสงบสันติ ผู้เรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย? และเป็นสิ่งสมควรหรือไม่ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะคิดถึงพลเมือง ในฐานะ “ฝ่ายตรงข้าม” ที่ต้องต่อสู้เอาชนะเช่นเดียวกับในการรบ?

ในเอกสารการเรียนของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าข้างต้นเอง ก็ระบุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องการดำเนินปฏิบัติการจิตวิทยา ว่าถ้าเป็นบุคคลในชาติเดียวกัน ในประเทศเดียวกัน ต้องระมัดระวังอย่าใช้คำอย่างการปฏิบัติการจิตวิทยาหรือสงครามจิตวิทยาเป็นอันขาด แม้ไม่ได้ระบุเหตุผลให้ชัดเจน แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าสำหรับตำราทหารเอง ก็ดูเหมือนจะตระหนักว่าการใช้ปฏิบัติการจิตวิทยามีความไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเมื่อนำมาใช้กับบุคคลในชาติเดียวกัน

 

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2 ปฏิบัติงานที่โรงเรียนปราสาทเบงวิทยา จังหวัดสุรินทร์  วันที่ 5 ก.พ. 2559 (ภาพจากเว็บไซต์โรงเรียน )

 

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งการเข้าคุกคามความเป็นส่วนตัว การพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและไม่ทราบแน่ชัดว่านำข้อมูลส่วนบุคคลไปทำอะไร การเดินทางเข้าไปในบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัว การพยายามห้ามปรามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ล้วนแต่เป็นการละเมิดต่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของปัจเจกบุคคล ตั้งแต่สิทธิในด้านความมั่นคงปลอดภัยของพลเมือง สิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย หรือการสื่อสาร รวมทั้งสิทธิในการแสดงออกและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

สิทธิหลายด้านเหล่านี้ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกบัญญัติไว้เป็นส่วนหนึ่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วย ได้แก่ สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว การละเมิดหรือนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์จะกระทำมิได้ (มาตรา 32)  เสรีภาพในเคหสถาน การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมจะกระทำมิได้ (มาตรา 33) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (มาตรา 34) เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (มาตรา 44)

ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐข้างต้น จึงเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งตัวร่างก็ถูกผลักดันมาโดยคสช. เอง ก่อให้เกิดสภาวะที่สิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติไร้ความหมายใดๆ ราวกับไม่มีรัฐธรรมนูญอยู่ในความเป็นจริง

อีกทั้ง แม้การเข้าไปติดตามประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง ถึงที่บ้านหรือที่มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่รัฐจะ “ไม่ได้นำอาวุธยุทโธปกรณ์หรือรถถังเข้าไป” แต่หากมองผ่านแว่นของปฏิบัติการจิตวิทยาดังกล่าวแล้ว “การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติธรรมดา” ของเจ้าหน้าที่กลับเป็นนำปฏิบัติการที่โดยปกติแล้วควรใช้ใน “การรบ” และ “การทำสงคราม” เท่านั้น เข้าไปเป็น “อาวุธ” ในการดำเนินการกับพลเมืองในประเทศของตนเองถึงอาณาบริเวณส่วนตัวของทุกๆ คน ในตลอดสี่ปีที่ผ่านมา…

 

 

X