ถ้อยแถลงการไต่สวนฝากขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่จากห้องพิจารณาคดี

ถอดความจากบันทึกของทนายความ

ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง 13 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่รณรงค์ประชามติ

คดีหมายเลขดำที่  ฝพ.21/2559  วันที่ 24 มิถุนายน 2559  ศาลทหารกรุงเทพ

เวลาประมาณ  15.30 น.

 

  • ทนายกฤษฎางค์  ทนายความนายรังสิมันต์ โรม ขออนุญาตศาลถามพนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องขอฝากขัง

ถาม : ที่ระบุในคำร้องขอฝากขังว่า คัดค้านการปล่อยชั่วคราว เพราะจะไปกระทำผิดซ้ำ  เพราะอะไร

ตอบ :  ทราบจากเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมว่าผู้ต้องหามีการเคลื่อนไหวในท้องที่มาก่อนแล้ว  ทราบว่ามีการจะทำกิจกรรมอีก และเจ้าพนักงานไม่มีการขอระงับ และไม่ให้มีการเคลื่อนไหว

ถาม : คำร้องฝากขังที่ระบุว่าเป็นอุปสรรคในการสอบสวนดำเนินคดีเพราะอะไร

ตอบ : ต้องสอบพยานบุคคลและพยานแวดล้อม ซึ่งมีการแจกเอกสารบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดเป็นกลุ่มและลักษณะมีบุคคลรอบข้างสนับสนุน อุ้มชูในการกระทำความผิดอยู่

ถาม : คดีนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือไม่

ตอบ : เป็นการนำจับของทหารเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามคำสั่ง คสช. ไม่ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ

  • นายรังสิมันต์  โรม ผู้ต้องหาที่ 1 ขอแถลงคัดค้านการฝากขังด้วยวาจา

ประเด็นแรก  พลเรือนไม่ควรขึ้นศาลทหาร และเรื่องของพวกเราเป็นเรื่องรณรงค์ให้คนไปออกเสียงประชามติ  ไม่เป็นความผิดกฎหมาย

รังสิมันต์ยืนยันว่า  เรารณรงค์ให้คนไปออกเสียง  ไม่ได้รณรงค์ให้คนไม่ไปออกเสียง  ดูจากเอกสารที่มีการแจกเอกสารไปใช้สิทธินอกเขตจังหวัด  ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่ดาวโหลดมาจากเว็ปไซด์ของกกต.  และเอกสารเรื่องการ ลงทะเบียนประชามติออนไลน์

การกระทำของพวกเราเป็นการรณรงค์อีกแง่มุมหนึ่งให้ประชาชนตัดสิน ไม่ได้เป็นการจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่เป็นนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งเท่านั้น เรารณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติให้มากที่สุดและเป็นการให้ความรู้ต่อประชาชน  การกระทำของพวกเราจึงไม่ทำผิดอะไรเลย

ในวันเกิดเหตุ  เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารยอมให้จัดกิจกรรมได้ แต่ให้จัดที่บริเวณสะพานเท่านั้น  เราก็ปฏิบัติตาม  แต่พอจัดได้ประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่ก็มาขอให้ยุติกิจกรรม แล้วมาจับพวกเรา  การควบคุมตัวเจ้าหน้าที่กระทำด้วยความรุนแรง ไม่แจ้งว่าทำอะไรผิด บอกแค่ว่าจะเชิญตัวมาเฉย ๆ

ข้อหาผิดประกาศ คมช. ฉบับที่ 25/2549 เรื่องไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ  ขอเรียนว่า  ประกาศ คมช. สิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 50  เมื่อ คสช. มีประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50  เนื่องจาก ม.309 รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คำสั่ง การกระทำของ คมช.  ดังนั้นเมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 ม.309 ก็ถูกยกเลิกไปด้วย  ประกาศคมช.ที่ 25/2549 จึงไม่มีผลบังคับใช้อีก

ข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ  กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ต้องเป็น กกต. มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจเท่านั้น

ก่อนหน้านี้  เราจัดกิจกรรมที่สำโรง  เจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการให้เราแจกใบปลิวจนแล้วเสร็จ  ไม่มีการดำเนินคดี

หลักกฎหมาย  ผู้ต้องหาต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด การดำเนินคดีและนำตัวพวกเรามาฝากขังคดีนี้ และคัดค้านการปล่อยชั่วคราว  จึงขัดกับหลักดังกล่าว

พวกเราเป็นนักศึกษาและแรงงาน  ไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี  และไม่มีความจำเป็นต้องให้เสรีภาพของเราสูญสลายไป  การปล่อยเราไปในระหว่างสอบสวนจะไปกระทบกับรูปคดีอย่างไร

  • นายวรวุฒิ บุตรมาตร ผู้ต้องหาที่ 11 ขออนุญาตแถลง

การลงประชามติทั่วโลกจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เปิดพื้นที่รณรงค์เรื่องประชามติได้อย่างเต็มที่  สิ่งที่พวกเราทำคือส่งเสริมให้คนไปลงประชามติ  มิได้ต้องการไม่ให้คนไปลงประชามติ

  • ทนายถาวร  ขออนุญาตศาลถามพนักงานสอบสวนผู้ร้องขอฝากขัง

ถาม : ที่ระบุในคำร้องว่าประสงค์จะสอบพยาน 10 ปาก  ยังไม่ทราบใช่ไหมว่าเป็นใคร  ชื่ออะไรบ้าง

ตอบ : ทราบ  แต่จำชื่อไม่ได้  ที่จำได้คือเจ้าหน้าที่รัฐ ปลัด นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ทหารชุดจับ  และประชาชนที่อยู่บริเวณเกิดเหตุ

ถาม : ผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นนักศึกษาและแรงงาน  จะไปมีอิทธิพลที่จะไปข่มขู่พยานได้อย่างไร  ขนาดท่านยังไม่ทราบชื่อเลยว่าพยานคือใครบ้าง  ผู้ต้องหาทั้งหมดก็ย่อมไม่ทราบว่าใครเป็นพยานบ้าง  นอกจากนี้ พยานที่ท่านกล่าวมาก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  ผู้ต้องหาทั้งหมดย่อมไม่สามารถไปมีอิทธิพลหรือยุ่งเหยิงกับพยานบุคคลดังกล่าวได้อยู่แล้ว

สิ่งที่พวกเขาทำเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะจัดทำขึ้น คือ ทำประชามติเอง  เป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด  ไม่สมควรจะต้องขังเขา  จำกัดเสรีภาพเขาถึง 12 วัน  ท่านได้ตระหนักเรื่องพวกนี้บ้างไหม

เรื่องตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ  หน่วยงานที่ตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติอาชญากรรมเป็นหน่วยงานตำรวจใช่หรือไม่ ท่านทำหนังสือสอบถามได้อยู่แล้ว  เป็นเรื่องการประสานงานภายในของท่านเอง  ไม่เกี่ยวกับผู้ต้องหา

การปล่อยตัวเขาไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนอย่างไร ที่ท่านระบุในคำร้องว่า คัดค้านการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคในชั้นสอบสวนและการพิจารณาคดีในชั้นศาล  คดีนี้ยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาล  จะเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีในชั้นศาลได้อย่างไร

ตอบ : ยังไม่ยื่นฟ้อง

  • ศาลถามพนักงานสอบสวนผู้ร้องขอให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 13 คน

ถาม :  พฤติการณ์จับกุมเป็นอย่างไร

ตอบ : ผู้ถูกจับมีการขัดขวางการจับกุม

ถาม : ลักษณะการกระทำของของผู้ต้องหาเป็นอย่างไร

ตอบ : มีผู้สนับสนุน  ฮึกเหิมขึ้น

ถาม : ถ้าไม่ขังเป็นอุปสรรคอย่างไร

ตอบ : มีพยานแวดล้อมเป็นบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เจ้าพนักงานผู้จับกุมโยงว่า ผู้ต้องหามีบุคคลรอบข้างสนับสนุนด้วย  น่าจะมีคนอื่นกระทำผิด หรือช่วยเหลือเป็นอุปสรรคในการสอบสวนได้  ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่สะดวก

  • คำสั่งศาล

พนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานพอสมควรว่าผู้ต้องหาทั้งสิบสาม น่าจะได้กระทำความผิดและเพิ่งเริ่มการสอบสวน คำคัดค้านของผู้ต้องหาทั้งสิบสาม มีลักษณะต่อสู้คดี อนุญาตให้ฝากขัง

X