ระหว่างชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ทหาร-ตร.ตามติดประชาชนทุกฝีก้าวในหลายพื้นที่ หวั่นมากทม.

นอกจากการปิดกั้นการเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล และการควบคุมตัวแกนนำ-ผู้ชุมนุม “คนอยากเลือกตั้ง” จำนวน 15 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค. แล้ว การพยายามปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในพื้นที่การชุมนุมอย่างในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในเส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น แต่การปิดกั้นยังเกิดขึ้นในหลายจุดทั่วประเทศ ผ่านปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าติดตาม ตรวจเช็ค กดดันประชาชนในหลายกลุ่มเครือข่ายทั้งที่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือเคลื่อนไหวด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนหน้าการชุมนุมหลายวัน

ดูใน อุ้มไปค่าย-เข้าค้น-เฝ้าหน้าบ้าน-ห้ามไม่ให้ร่วม: สถานการณ์สกัดคนอยากเลือกตั้งทั่วประเทศ

มองทหาร-ตำรวจตระเวนเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะปฏิบัติการจิตวิทยา

 

ท่ามกลางข้อกล่าวอ้างของทั้ง พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เรื่องการมีกลุ่มฮาร์ดคอร์เข้าร่วม หรือการเชื่อมโยงการชุมนุมกับการจับอาวุธ  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามจำนวนมาก เป็นเพียงป้าๆ ลุงๆ ผู้กระตือรือร้นเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง เป็นผู้ช่วยให้บริการเครื่องเสียง สนับสนุนข้าวปลาอาหารในการทำกิจกรรม เป็นชาวบ้านที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนและทรัพยากร และเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาก่อน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงระหว่างวันที่ 17 ถึง 22 พ.ค. พบว่ามีประชาชนอย่างน้อย 68 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้าน นัดหมายพบเจอ เฝ้าติดตาม หรือถูกโทรศัพท์ติดตามความเคลื่อนไหวเป็นระยะ โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงจำนวนเท่าที่ทราบเท่านั้น เป็นไปได้ว่าจำนวนที่แท้จริงของประชาชนที่ถูกคุกคามในช่วงนี้ จะอยู่ในหลักหลายร้อยคนขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกรายงานถึงในทางสาธารณะแต่อย่างใด

โดยเฉพาะในช่วงวันสุกดิบก่อนและระหว่างการชุมนุมในวันครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค. ยังพบว่าปฏิบัติการติดตามเป็นไปอย่างถี่ยิบ โดยเจ้าหน้าที่มีการเฝ้าผู้ถูกติดตามบางรายตลอดทั้งวัน หรือไม่ก็เข้าขอถ่ายรูปหรือโทรศัพท์สอบถามถึงผู้ถูกติดตามแทบจะทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ไปร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ  ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายพื้นที่ ที่ดูจะสะท้อนถึง “ความหวั่นเกรง” ประชาชนที่จะออกมาร่วมกันแสดงความออกทางการเมืองอย่างมาก

 

ตำรวจนั่งเฝ้า “สองหมอ” ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ที่คลินิกตลอดวัน

นายอิราวัต อารีกิจ หรือ “หมออั้ม” ได้โพสต์เล่าเรื่องราวการถูกเจ้าหน้าที่มาติดตามถึง 3 วันติดต่อกัน ตั้งแต่วันที่ 20-22 พ.ค. โดยวันที่ 20 พ.ค. มีเจ้าหน้าที่สันติบาลของจังหวัดราชบุรีเดินทางไปที่คลินิกของเขา พร้อมสอบถามเรื่องการไปชุมนุมวันที่ 21-22 โดยระบุว่ามาทำตามหน้าที่ตามที่ “นาย” สั่ง

ต่อมาในวันที่ 21 พ.ค. ยังได้มีตำรวจอีกชุดหนึ่งเดินทางไปที่บ้านของเขา และวันที่ 22 พ.ค. ตั้งแต่เช้าได้มีการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยเฝ้านายอิราวัต ทั้งยังมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจขับวนไปมาอยู่หน้าบ้าน และมีเจ้าหน้าที่ไปรอพบที่คลินิกด้วย โดยเมื่อหมอไปถึง ก็มีเจ้าหน้าที่เข้าประกบขอถ่ายภาพไว้ทันที และมีเจ้าหน้าที่อีกนายหนึ่งยศนายสิบถูกจัดไว้คอยเฝ้าเขาตลอดทั้งวัน โดยนายสิบนายนี้ขอถ่ายภาพกับหมอเป็นระยะ ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เพื่อส่งให้ “นาย” ดู ยืนยันว่าเขายังอยู่ที่ทำงาน จนกระทั่งการชุมนุมที่กรุงเทพฯ สิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่จึงถอนกำลังกลับไป

ด้าน นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล ศัลยแพทย์ทั่วไปจังหวัดราชบุรี และเป็นผู้ถูกดำเนินคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้งที่ถนนราชดำเนิน หรือ “RDN50” ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาติดตามพบทั้งที่บ้านและที่ทำงานหลายครั้งตลอดอาทิตย์ที่แล้ว  ช่วงเย็นวันที่ 21 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเกือบ 20 นาย เดินทางเข้าไปพบน.พ.พงษ์ศักดิ์ถึงที่ทำงาน และยังมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าอยู่ที่หน้าบ้านตลอดทั้งวัน ในช่วงเช้าวันที่ 22  พ.ค. เจ้าหน้าที่ยังขอติดตามจากบ้านไปที่ทำงาน เพื่อตรวจเช็คว่าไปทำงาน ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

 

ภาพเจ้าหน้าที่หลายหน่วยติดตามพบ น.พ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล ในที่ทำงาน (ภาพจากเพซบุ๊กของน.พ.พงษ์ศักดิ์)

 

ตามตัวนักศึกษาม.พะเยา อยากรู้ว่าอยู่ที่ไหนทุกๆ วัน

นายชินภัทร วงค์คม นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยา ผู้เคยเข้าร่วมชุมนุมของคนอยากเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตัวทั้งที่มหาวิทยาลัยและที่บ้านมาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. แต่ยังไม่เจอตัว

จนวันที่ 21 พ.ค. ชินภัทรเข้าไปเรียนตามปกติในมหาวิทยาลัย ในช่วงพักเที่ยงได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาหา สอบถามว่าใช่นายชินภัทรหรือไม่ พร้อมกับแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.แม่กา ได้รับคำสั่งให้มาติดตามนายชินภัทร ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรจนถึงวันที่ 23 พ.ค. เจ้าหน้าที่ได้สอบถามว่าเขาจะไปกรุงเทพฯ หรือไม่ ชินภัทรยืนยันว่าไม่ได้ไป เจ้าหน้าที่จึงได้ขอถ่ายรูปเอาไว้ พร้อมกับพยายามขอที่อยู่หอพักและเบอร์โทรศัพท์ โดยเขาให้เพียงเบอร์โทรศัพท์ไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าวันพรุ่งนี้จะมาพบอีกครั้งหนึ่ง การพูดคุยนี้เกิดขึ้นต่อหน้าเพื่อนๆ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย

จนวันที่ 22 พ.ค. ตั้งแต่ช่วงสาย ได้มีตำรวจโทรศัพท์มาสอบถามว่าเขาอยูที่ไหน อยากให้มาพบเจ้าหน้าที่ เพื่อรายงานทางจังหวัด พร้อมกับพยายามขอที่อยู่หอพัก แต่ชินภัทรแจ้งให้ไปพบที่ร้านกาแฟแถวมหาวิทยาลัยแทน เมื่อไปถึงพบว่ามี่เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย แนะนำตัวว่ามาจากสภ.แม่กา และสภ.เมืองพะเยา เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปและถามเขาเช่นเดิมว่าจะไปกรุงเทพฯ หรือไม่ พร้อมสอบถามถึงกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมว่ามีใครบ้างด้วย

จนถึงวันที่ 23 พ.ค. ก็ยังมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาถามว่าเขาอยู่ที่ไหนเช่นเดิม พร้อมกับขอให้เขาโทรแจ้งถ้าเข้ามาที่มหาวิทยาลัย

 

ติดตามถามนักศึกษา มธ.ลำปาง เช้าสายบ่ายเย็น ไปกรุงเทพฯ หรือไม่

เช่นเดียวกับนายยามารุดดิน ทรงศิริ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และผู้ถูกดำเนินคดีในกรณีชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU06) ที่มีเจ้าหน้าที่มาพบที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.

จนวันที่ 21 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังโทรศัพท์มาหาเขาตลอดทั้งวัน แทบทุก 2-3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 10.00 น., 12.00 น., 15.00 น. โดยพยายามสอบถามว่าเขาอยู่ที่ไหน และจะไปกรุงเทพฯ หรือไม่ แม้เขายืนยันว่าไม่ได้ไป เนื่องจากติดสอบ เจ้าหน้าที่ก็ยังโทรถามอยู่เช่นเดิม ทั้งในช่วงค่ำวันนั้น เพื่อนของเขายังแจ้งว่าสังเกตเห็นรถเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจอดนิ่งอยู่ที่หอพักเป็นที่ผิดสังเกต เนื่องจากปกติไม่ได้มีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณนั้น

วันที่ 22 พ.ค. ตั้งแต่ช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรศัพท์มาสอบถามอีกครั้งว่าเขาอยู่ที่ไหน เมื่อระบุว่าอยู่ที่หอพัก เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้เขาลงมาด้านล่างของหอพักเพื่อพบกัน ยามารุดดินจึงได้ยอมลงมาพบกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ซึ่งรออยู่ เจ้าหน้าที่ระบุว่าคนที่โทรหาเมื่อวานเป็นทางผู้กำกับ ส่วนในวันนี้เป็นหน้าที่ของพวกตน พร้อมกับถามเช่นเดิมว่าเขาจะไม่ไปกรุงเทพฯ ใช่หรือไม่ และยังพยายามสอบถามว่ามีเพื่อนนักศึกษาจะไปหรือไม่ด้วย เจ้าหน้าที่ได้ขอถ่ายรูปไว้ก่อนเดินทางกลับ

ยามารุดดินระบุว่าการติดตามของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลาในเรื่องเดิมเช่นนี้ ทำให้เขาได้รับความรำคาญมาก ทั้งยังเป็นช่วงของการอ่านหนังสือสอบ ทำให้การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการรบกวนเขาอย่างมาก

 

ภาพเจ้าหน้าที่หลายหน่วยเข้าติดตามที่บ้านแกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน

 

หาตัวแกนนำผู้ได้รับผลกระทบทวงคืนผืนป่า ทั้งเช้า-กลางวัน-เย็น-ก่อนนอน

ทางด้านเพจสมัชชาคนจน รายงานว่าตลอดวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าติดตามนายไพฑูรย์ สร้อยสด แกนนำชาวบ้าน บ้านเก้าบาตร จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่า ตลอดทั้งวัน โดยตั้งแต่ 9.00 น. มีชายแต่งเครื่องแบบทหารสองคนขับรถเข้ามาจอดที่หน้าบ้านของนายไพฑูรย์ พร้อมเข้ากับสอบถามครอบครัวว่าอยากคุยกับเขา และพยายามสอบถามว่าเขาจะไปม็อบใช่หรือไม่ เมื่อไม่เจอตัว เจ้าหน้าที่ยังพยายามไปสอบถามถึงเขาที่บ้านกำนันด้วย

ต่อมาในช่วงกลางวันจนถึงเย็น ยังมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามหาตัวนายไพฑูรย์อย่างต่อเนื่องที่บ้านรวม 5 ครั้ง และสอบถามเรื่องเดิมว่านายไพฑูรย์ไปชุมนุมหรือไม่ จนในช่วงค่ำ 19.00 น. ทางผู้ใหญ่บ้านจึงได้ติดต่อแจ้งให้นายไพฑูรย์ไปถ่ายรูปกับทหารเพื่อรายงาน “นาย” ว่าเขาไม่ได้ไปไหน เมื่อถ่ายรูปเสร็จ ทหารจึงยอมเดินทางกลับ

ขณะเดียวกันมีรายงานว่าแกนนำชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ทับซ้อนที่ดินทำกิน ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร เดินทางเข้าไปที่บ้าน ทั้งในวันที่ 21-22 พ.ค. เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่

 

ภาพเจ้าหน้าที่ทหารเข้าติดตามนายไพฑูรย์ แกนนำชาวบ้านบ้านเก้าบาตรในช่วงค่ำ (ภาพจากเพจสมัชชาคนจน)

 

ติดตามชาวบ้านค้านเหมืองทอง-แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ 5 วันติด ทั้งที่ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม

ด้านนางพรทิพย์ หงษ์ชัย สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย ซึ่งคัดค้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร สันติบาล และกอ.รมน. ประมาณ 7 นาย เข้าไปหาเธอที่บ้าน เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไหม แม้เธอจะยืนยันว่าไม่ได้ไปชุมนุม แต่ต่อมาวันที่ 19-21 พ.ค. ก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่สันติบาลและสัสดีจังหวัดเลยโทรศัพท์มาสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมหรือไหม

ในวันที่ 21 พ.ค. นี้ นางพรทิพย์ยังระบุว่าทางสัสดีจังหวัดยังได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดอีกหลายราย เพื่อสอบถามว่าจะไปร่วมชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่เช่นเดียวกัน ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 22 พ.ค. ทางสัสดีก็ยังมาหาพรทิพย์ที่บ้าน เพื่อถ่ายรูปรายงานว่าเธอยังอยู่ที่บ้าน

ในส่วนของพ่อบุญช่วย โสสีทา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 22 พ.ค. ต่อเนื่องกัน 5 วัน ได้มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจเดินทางเข้าไปพบ โดยถามเรื่องเดิมซ้ำๆ ว่าจะไปร่วมการชุมนุมที่กรุงเทพฯ หรือไม่ จะพาชาวบ้านไปด้วยหรือเปล่า และรู้ไหมว่าจะมีใครไปบ้าง แม้นายบุญช่วยยืนยันว่าไม่ได้ไป แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังเดินทางมาในวันต่อมาทุกวัน เพื่อถ่ายรูปด้วยและถามคำถามเดิม แม้พ่อบุญช่วยจะย้ำทุกวันว่าตนไม่ได้เดินทางไปก็ตาม

 

 ภาพเจ้าหน้าที่ทหารติดตามนายบุญช่วย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว 5 วันติดต่อกัน

 

 

 

 

X