20 วัน ขบวน Walk for Rights เจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด

20 วัน ขบวน Walk for Rights เจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด

30 มิ.ย.59 วันที่ 26 ของขบวน ‘เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน’ หรือ Walk for Rights โดยเครือข่ายประชาชนภาคอีสาน ที่ใช้ชื่อว่า ‘ขบวนการอีสานใหม่’ ถูกคุกคามอย่างหนักขณะทำกิจกรรมในพื้นที่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยกำลังทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ประมาณ 30 นาย เข้ากดดันให้ออกจากพื้นที่ในเวลาใกล้ค่ำ โดยก่อนออกเดินต้องลบสเตตัสในเพจ ขบวนการอีสานใหม่ ที่โพสต์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ….. ซึ่งมีการพาดพิงถึงรัฐบาลจากการรัฐประหาร และรูปที่เจ้าหน้าที่เข้าคุกคามขบวน

ย้อนกลับไปดูเส้นทางที่ผ่านมา 20 วันของการเดินเพื่อถามไถ่และพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโดยรัฐ แม้ขบวนจะต้องเผชิญกับคุกคามจากเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่ามาดูแลความปลอดภัยด้วยการติดตามตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกจับตาจะมีการคุมเข้ม อาทิ กรณีพื้นที่ผลกระทบจากการสร้างเขื่อน กรณีพื้นที่ป่าไม้ ที่ดิน กรณีพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ และกรณีพื้นที่ขุดเจาะปิโตรเลียม แต่ทางทีมงาน Walk for Rights ยังยืนยันที่จะเดินต่อเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

รูป 3

  • จ.อุดรธานี

18 มิ.ย. 2559 วันที่ 14 ของการเดิน เริ่มเข้าพื้นที่ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี ต่อสู้กรณีเหมืองแร่โปแตชยาวนานกว่า 15 ปี ซึ่งที่ผ่านมาการทำเหมืองแร่โปแตซขยับได้เพียงเล็กน้อย เพราะประชาชนในพื้นที่เข้มแข็งและมีอำนาจต่อรอง

หลังการรัฐประหาร ชาวบ้านเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรื่องสิทธิของตนเองได้ยากขึ้น เนื่องจาก คสช. ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อห้ามให้ชาวบ้านออกมารวมกลุ่ม มีการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่รัฐหากออกมาเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ หลังการรัฐประหาร กระบวนการและขั้นตอนขออนุญาตทำเหมืองแร่ฯ สามารถผ่านได้โดยง่าย เพราะเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีเหมืองแร่โปแตชที่ผ่านมาถูกจัดในค่ายทหารที่มีการคุมเข้ม และห้ามบุคคลภายนอกเขต จ.อุดรธานี เข้ารับฟัง

เมื่อขบวน Walk for Rights เดินเข้าเขตพื้นที่ จ.อุดรธานี ได้ถูกจับตามองเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา อาทิ เมื่อขบวนเดินทางมาถึงวัดจันทาราม ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นจุดพักรับประทานอาหารกลางวัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อุดรธานี สภ.ประจักษ์ศิลปาคม และเจ้าหน้าที่ทหารจาก ค่ายประจักษ์ศิลปาคม (มทบ.24) ราว 16 นาย เข้ามาสอบถามข้อมูลว่า มาจากที่ไหน และจะเดินไปที่ไหนกันต่อ จะนอนที่นี่หรือไม่ เมื่อตัวแทนกลุ่มได้แจ้งข้อมูลเบื้องต้นให้ทราบ

เจ้าหน้าที่ขอทีมงานว่าอย่าเดินต่อได้หรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า “นายไม่สบายใจ และบ้านเมืองยังไม่สงบ” พร้อมชี้แจงว่า หากยังเดินต่ออาจจะมีปัญหาตามมา เพราะเข้าข่ายการทำผิดกฎหมาย

ขณะที่ช่วงค่ำวันเดียวกันนั้น เจ้าหน้าที่ยังตามเข้ามากดดันเพื่อไม่ให้ขบวน Walk for Rights พักค้างคืนในวัดซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ จ.อุดรธานี อย่างไรก็ตามทางชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยังยืนยันกับเจ้าหน้าที่ว่าจะให้ทีมงานพักที่นี่ พร้อมย้ำว่าไม่มีอะไรน่าห่วงและจะไม่มีเรื่องวุ่นวายอะไรให้เจ้าหน้าที่กังวล

  • จ.กาฬสินธุ์

19 มิ.ย. 2559 วันที่ 15 ของการเดิน ขบวนเดินทางไปที่ บ้านหนองแซง อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการขอสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียม โดยบริษัท อพิโก้ โคราช จำกัด แต่ชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้าน กระทั่งบริษัทไม่สามารถต่อใบอนุญาตใช้พื้นที่ สปก. เป็นเหตุให้ไม่สามารถขนอุปกรณ์เข้ามาขุดเจาะได้ แม้บริษัทจะยังไม่เริ่มทำการขุดเจาะ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ยังคงกังวล เพราะหากไม่สามารถยกเลิกสัมปทานการขุดเจาะปิโตรเลียม ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ชุมชนได้ นั่นหมายความว่า ชาวบ้านทำได้เพียงชะลอโครงการ แต่ไม่มีอำนาจในการหยุดโครงการที่เห็นว่าจะสร้างผลกระทบต่อชุมชนได้

ทั้งนี้ ระหว่างเดินทางมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบมาถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเดิน พร้อมทั้งถ่ายรูปตลอดการเดินทาง รวมทั้งเข้าไปหาทีมงานถึงที่พัก เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางในวันถัดไป

  • จ.ขอนแก่น

20 มิ.ย. 2559 วันที่ 16 ของการเดิน หลังจากออกจาก อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ขบวนเดินมุ่งหน้าสู่ บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น เพื่อจัดเวทีสาธารณะพูดคุยถึงประเด็นปัญหา ผลกระทบจากการขุดเจาะปิโตรเลียมที่บ้านนามูล

ในพื้นที่นามูล ชาวบ้านได้ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม เมื่อปลายปี 2557 และตั้งชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มอนุรักษ์บ้านนามูล – ดูนสาด” ซึ่งเป็นการลุกขึ้นมาต่อสู้ในช่วงหลังรัฐประหาร ต่อมา เมื่อต้นปี 2558 ทหารตำรวจฝ่ายปกครองกว่า 300 นาย เข้าตรึงกำลังในพื้นที่เพื่อคุ้มครองรถขนอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียม ของบริษัท อพิโก้ โคราช จำกัด พร้อมกับขู่ว่าจะใช้กฎอัยการศึก หากมีการต่อต้านหรือเคลื่อนไหว การขุดเจาะสำรวจผ่านไปอย่างเรียบร้อย ขณะที่ชาวบ้านยังคัดค้านและพยายามยื่นหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ถูกจับตาและติดตามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่รัฐ

ตลอดการเดินทางไปบ้านนามูลของขบวน มีเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยติดตามเพื่อสอบถาม และถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลา โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมักจะใช้รถที่ไม่ติดทะเบียน ทำให้สมาชิกของขบวนการอีสานใหม่ หนึ่งในทีมงานของขวนรู้สึกกังวลใจและไม่ปลอดภัยต่อพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ ที่ขับรถติดตามโดยไม่ติดป้ายทะเบียน

รูป 4น้ำพอง

21 มิ.ย. 2559 วันที่ 17 ของการเดิน ขบวนมุ่งหน้าสู่ บ้านหนองหารจาร  อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ที่มีปัญหาการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม อาทิ การสร้างโรงแป้งมันสำประหลัง ดำเนินการโดยบริษัท ขอนแก่น สาตาร์ช จำกัด  โรงงานผลิตก๊าซชีวมวล ดำเนินการโดย บริษัท เค.เอส – ไบโอพลัส จำกัด  และโรงงานผลิตโรงงานไฟฟ้า 4.2 เมกกะวัตต์ ทั้งนี้ในพื้นที่ที่จะมีการทำอุตสาหกรรมอยู่ในบริเวณชุ่มน้ำห้วยเสือเต้น ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อการเกษตร และเคยถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ

จากกรณีดังกล่าว ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อคัดค้านและต่อสู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในนาม “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว” เพื่อสอดส่องดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม

ภายหลังรัฐประหาร คสช.  มีการใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ม.44 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ส่งผลให้ชาวบ้านถูกห้ามออกมาชุมนุมและปิดกั้นการเคลื่อนไหว รวมถึงถูกจับตามองมากขึ้น เมื่อขบวนเดินทางไปพบชาวบ้านก็ทำให้มีเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าถามเกี่ยวกับรายละเอียดของกิจกรรมการเดิน ทั้งในระหว่างการเดินและขณะเดินทางถึงพื้นที่เพราะกลัวว่าจะมีการออกมาเคลื่อนไหวหรือชุมนุมทางการเมือง

22-23 มิ.ย. 2559 การเดินทางวันที่ 18-19 ขบวนเดินกลับมาที่ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่มีปัญหาการพัฒนาชุมชนเมือง อาทิ กรณีชุมชนริมทางรถไฟ ที่มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน หรือมีการไล่ที่อยู่อาศัยในชุมชนเนื่องจากแผนพัฒนาของรัฐ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน ทำให้ชาวบ้านมักจะถูกบังคับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยโดยไม่เป็นธรรม และกรณีการย้ายสถานีขนส่ง จ.ขอนแก่น ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง ซึ่งขบวนเดินทางมาเพื่อจัดเวทีสาธารณะพูดคุยถึงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น

ขบวน Walk for Rights เดินทางมาถึง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 และพักที่ขอนแก่นหนึ่งคืนก่อนจัดเวทีในเช่วงเช้าของวันที่ 24 มิ.ย. 2559 (อ่านเพิ่มเติม https://www.facebook.com/NewEsaan/?fref=nf)

ทั้งนี้ ขณะจัดเวทีมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาเฝ้าติดตามและสังเกตการณ์ตั้งแต่ทีมงานเริ่มเดินออกจากที่พัก ไปจนถึงขณะจัดเวที  โดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี จากค่ยศรีพัชรินทร์ (มทบ.23) กล่าวว่า ไม่อยากให้คุยเรื่องการเมืองหรือเรื่องประชามติในเวที เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ

  • จ.มหาสารคาม

25-26 มิ.ย. 2559 การเดินทางวันที่ 21-22 ของขบวนหลังจากเสร็จสิ้นเวทีที่ขอนแก่น ได้เดินทางมาถึงอาศรมไทบ้านดอนแดง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เพื่อพักค้างคืน และแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับกรณีที่ดิน เช่น การต่อสู้เรื่องโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม ในช่วงเช้าวันที่ 26 มิ.ย. 2559

แม้การเดินทางในครั้งนี้จะได้รับการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า ขบวนสามารถเดินได้อย่างสะดวกในพื้นที่ จ.มหาสารคาม อย่างไรก็ตาม รองผู้ว่าราชการ จ.มหาสารคาม กอ.รมน. 3 นาย ตำรวจ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ได้เดินทางมาพูดคุยกับขบวนขณะพักรับประทานอาหารกลางวันว่า อย่าทำอะไรให้ผิดกฎหมาย และจะให้ กอ.รมน. ตามขบวน 2 นายด้วย

ตลอดการเดินทางจนถึงอาศรมไทบ้านดอนแดง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งในและนอกเครื่องแบบคอยติดตามถี่กว่าทุกพื้นที่ที่ผ่านมา และมีเจ้าหน้าที่เข้าร่วมในวงพูดคุยแลกเปลี่ยน คอยถามว่าจะไปไหนต่อ จะอยู่กี่วัน รวมถึงบอกให้ทุกคนที่ร่วมเดินในขบวนลงชื่อกับเจ้าหน้าที่ในช่วงค่ำ ขณะขบวนเข้าถึงที่พัก ทำให้ทีมงานรู้สึกอึดอัด และรู้สึกถูกคุกคามที่มีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าในวงแลกเปลี่ยน ทำให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ระหว่างเดินทางมีเจ้าหน้าที่มาติดตามขอชื่อที่อยู่ของสมาชิกในขบวนไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้แจ้งชื่อ สังกัด หรือที่มาของตน พร้อมกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบางนายที่ใช้รถไม่ติดป้ายทะเบียนมาสังเกตการณ์ ทำให้ทีมงานเกิดความรู้สึกกังวลใจต่อความปลอดภัยของสมาชิก เพราะการที่เจ้าหน้าที่ใช้รถที่ไม่ติดทะเบียน แสดงถึงเจตนาที่ไม่โปร่งใสในการติดตาม และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรือพื้นที่แรกที่เจ้าหน้าที่มาสังเกตการณ์โดยใช้รถที่ไม่ติดป้ายทะเบียน และมีทหาร ตำรวจ กองบัญชาการกองรักษาดินแดน (กบ.อส.) กอ.รมน. รวม วันละ 8 นาย มาเฝ้าอยู่ที่พักทุกวัน

27 มิ.ย. 2559 การเดินทางวันที่ 23 ขบวนมุ่งหน้าสู่ศูนย์กสิกรรมไทบ้าน บ้านปลาบู่ ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้กดดันให้คนในพื้นที่ยกเลิกการให้ที่พักแก่ขบวนฯ แต่ท้ายที่สุดขบวนฯ สามารถเจรจาขอเข้าพักแลกกับการมีเจ้าหน้าที่ติดตามตลอดเวลาการเดินทางและการพักค้างคืน

ขบวนเดินทางไปศึกษาการต่อสู้ของชาวบ้านปลาบู่กับคนที่อาศัยตามลำน้ำเสียว ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาดินเค็มจากกรณีการทำธุรกิจนาเกลือ ที่ส่งผลให้น้ำเสียว ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนใน อ.วาปีปทุม มีความเค็มจนสัตว์ในน้ำตาย พืชในบริเวณน้ำเสียวไม่เจริญเติบโต

รูป1

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการอนุญาตให้ขบวนเข้าพักในพื้นที่ แต่ยังมีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์อยู่ตลอดเส้นทาง และมีเจ้าหน้าที่ทหารที่อ้างว่ามาจากค่ายสีหราชเดโชไชย (กรมทหารราบที่ 8: ร.8) ตามมาถึงที่พักโดยไม่แสดงบัตร รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังกัดอื่น และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเฝ้าติดตามในที่พักตลอดเวลาจนกระทั่งออกจากพื้นที่ จ.มหาสารคาม

เจ้าหน้าที่อ้างว่าการติดตาม กดดัน หรือคุกคามขบวน และพื้นที่ที่ทีมงานจะเข้าพัก เพราะมารักษาความปลอดภัยให้กับขบวน แม้ทีมงานจะพยายามยามอธิบายว่า การเดินในครั้งนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นการลุกขึ้นมาเพื่อยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ คือ สิทธิที่จะเดิน สิทธิที่จะคิดคิด สิทธิที่จะแสดงออก หรือแม้แต่สิทธิที่จะปกป้องชุมชน หรือท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งอาจจะถูกฉีกทิ้งไปแล้วก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ยังกดดันด้วยการติดตามสอบถามรายละเอียดของกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา ห้ามพูดเรื่องประชามติ หรือห้ามทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย รวมถึงกดดันในพื้นที่ที่ขบวนจะเข้าพักด้วยวิธีต่าง ๆ ย้อนแย้งกับข้ออ้างที่จะมารักษาความปลอดภัย

X