เมื่อ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กำลังจะขึ้นสู่ศาล: ทบทวน 1 ปี คดีไทยศึกษาก่อนสั่งฟ้อง

พรุ่งนี้ (4 ก.ค. 61) เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ได้นัดหมาย 5 ผู้ต้องหาในคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในระหว่างการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ไปสั่งฟ้องคดีที่ศาลแขวงเชียงใหม่  ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งคดีกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภายหลังคดีค้างคาอยู่ที่ชั้นอัยการนานหลายเดือน กระทั่งมีคำสั่งให้ฟ้องคดีในเดือนนี้ เท่ากับกำลังจะครบระยะเวลา 1 ปี ของเหตุการณ์ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วพอดี ชวนย้อนทบทวนจุดเริ่มต้น และกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา เพื่อติดตามคดีที่กำลังจะขึ้นสู่ชั้นศาลแล้ว

จุดเริ่มต้น: ชูป้ายคัดค้านการแทรกแซงงานประชุมวิชาการของเจ้าหน้าที่รัฐ

งานประชุมนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) เป็นงานประชุมวิชาการในระดับระหว่างประเทศ ซึ่งมีหัวข้อเกี่ยวข้องกับประเทศและสังคมไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นทุกสามปีต่อครั้งหมุนเวียนกันไปในประเทศต่างๆ โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ที่มหาวิทยาลัยเดลี ประเทศอินเดีย  และในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่

ภายใต้สถานการณ์หลังการรัฐประหารของประเทศไทย ในระหว่างการจัดงานครั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60 ทางชุมชนนักวิชาการนานาชาติที่มาร่วมงานจำนวน 176 คน ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” เรียกร้องให้คสช. คืนเสรีภาพทางวิชาการ คืนอิสรภาพแก่นักโทษทางความคิด คืนอำนาจอธิปไตยแก่ประชาชน และปฏิรูปสถาบันสำคัญโดยเฉพาะศาลและกองทัพ

 

 

ต่อมาในวันที่ 18 ก.ค. ยังมีนักกิจกรรมและนักศึกษานำป้ายที่มีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” มาติดบริเวณหน้าห้องสัมมนาวิชาการ เนื่องจากเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างงาน โดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน และยังมีการส่งเสียงดังภายในงาน โดยที่ระหว่างที่ป้ายดังกล่าวติดอยู่ ได้มีผู้ร่วมถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวด้วย

ภายหลังการจัดงาน ได้ปรากฏรายงานข่าวถึงหนังสือของนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโทรสารในราชการกรมปกครอง รายงานต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 18 ก.ค. 60 เรื่องความเคลื่อนไหวในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา

หนังสือระบุว่าเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ได้มีนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม จำนวน 6 คน ได้เดินทางมาชูป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” โดยใช้สถานที่ภายในห้องประชุมสัมมนาและด้านหน้าห้องประชุมเป็นสถานที่ถ่ายภาพ พร้อมกับระบุว่าทางจังหวัดเชียงใหม่ โดยกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) จะเชิญนักวิชาการ 3 คนเข้าพบเพื่อชี้แจง และขอความร่วมมือไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป แต่ภายหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการเรียกตัวใดๆ เกิดขึ้น

 

ผู้ช่วยอัยการศาลทหารรับอำนาจรองผบ.มทบ.33 เข้าแจ้งความดำเนินคดี

จนหลังการประชุมผ่านไปเกือบหนึ่งเดือน เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 60 ผู้ต้องหาบางรายในคดีนี้ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก ลงวันที่ 11 ส.ค. 60 ระบุให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 หมายเรียกระบุให้ผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 ส.ค. 60 แต่มีการแก้วันนัดเข้าพบด้วยปากกาใหม่เป็นวันที่ 15 ส.ค. 60

ต่อมาจึงทราบจากพนักงานสอบสวนว่าได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมด 5 คน ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา และนักเขียน ได้แก่ 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

 

ก่อนหน้าการออกหมายเรียก ทางพันเอกสืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ และรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มอบอำนาจให้ร้อยโทเอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 มาเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เอาไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ผู้ถูกออหมายเรียกได้มีการขอเลื่อนวันรับทราบข้อกล่าวหาออกไป เนื่องจากยังไม่ได้รับหมายเรียกทุกคน จนในวันที่ 21 ส.ค. 2560 ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยมีนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัย นักศึกษา เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้านเครือข่ายเกษตรกรและชาติพันธุ์ รวมกว่า 100 คน เดินทางมาให้กำลังใจผู้ต้องหาที่สถานีตำรวจด้วย

พนักงานสอบสวนได้แจ้งเหตุที่ถูกกล่าวหาว่ากรณีการติดแผ่นป้ายข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ดังกล่าว เป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ ผู้ต้องหาทั้งห้าได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

อีกทั้ง พนักงานสอบสวนยังแจ้งเงื่อนไขของข้อ 12 ในคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการยินยอมเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่ทหาร จะทำให้คดีถือว่าเลิกกันได้ แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดปฏิเสธกระบวนการนี้

 

 

ให้การยืนยันเสรีภาพการแสดงออกเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ

ต่อมา ในวันที่ 1 ก.ย. 60 ทั้ง 5 ผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวน โดยทั้งหมดยืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหา และให้การยืนยันใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เป็นผู้เข้าร่วมการประชุมวิชาการไทยศึกษา โดยดร.ชยันต์ วรรธนะภูติเป็นรองประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมครั้งนี้ ทำหน้าที่ประสานงานนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ  ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิชาการ และร่วมเป็นวิทยากรในงานประชุม ขณะที่ผู้ต้องหาที่ 3 และที่ 4 ร่วมเป็นอาสาสมัครในคณะผู้จัดงาน (Staff) มีหน้าที่ดูแลการจัดการประชุมและรับผิดชอบประสานงานในห้องประชุมย่อยต่างๆ โดยผู้ต้องหาทุกคนมีบัตรผู้เข้าร่วมประชุมและลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม
  2. การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า ไม่ได้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน เพื่อเจตนารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ได้กระทำในพื้นที่เปิด ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้อย่างกว้างขวาง  จึงไม่ใช่การชุมนุม  และไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป  แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นและเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการโดยสงบและสุจริต  ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว  ก็ไม่ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านรัฐบาล ยุยง ปลุกปั่น หรือเป็นการปลุกระดมทางการเมืองใดๆ
  3. การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้าเป็นการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนและปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ ที่ถือเป็นภารกิจของนักวิชาการหรือนักศึกษาในสังคมไทยที่ต้องยืนยันถึงความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการ  ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศ ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ การกระทำของผู้ต้องหาทั้งห้า  ที่ได้แสดงออกเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการเช่นนี้ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยสุจริต
  4. คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558  ข้อ 12  และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมเหมือนกัน ดังนั้น  การออก พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558  มาบังคับใช้ภายหลัง  จึงมีผลทำให้กฎหมายใหม่ยกเลิกฎหมายเก่า  ขณะเกิดเหตุคดีนี้จึงอยู่ภายใต้การบังคับของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558  ข้อ 12  ถูกยกเลิกไปแล้ว

 

 

แถลงการณ์-จดหมายเปิดผนึกจากไทยและต่างประเทศ เรียกร้องยุติคดี

ในช่วงของก่อนและหลังการรับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว ยังมีสถาบันหรือองค์กรทางวิชาการ สิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ อาทิเช่น เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง, สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน, สถาบันเกี่ยวกับไทยศึกษาและอาเซียนศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอีกหลายแห่ง  หรือแม้แต่องค์กรภาคประชาสังคมในประเทศพม่า และเครือข่ายภาคประชาสังคมในประเทศไทยเอง ได้ออกแถลงการณ์หรือออกจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีไทยศึกษานี้ รวมแล้วกว่า 70 องค์กร และมีนักวิชาการ หรือภาคประชาสังคม ทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างน้อย 1,071 รายชื่อ ร่วมกันลงชื่อเรียกร้อง รวมแล้วมีแถลงการณ์และจดหมายเปิดผนึก อย่างน้อย 18 ฉบับ

หลายองค์กรหรือเครือข่ายยืนยันถึงเสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งเห็นว่าการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนมาปรากฏตัวในที่ประชุมนั้น เป็นเหตุอย่างชัดแจ้งให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมบางส่วนต้องออกมายืนยันว่าการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีวิชาการ และไม่ใช่ค่ายทหาร ถ้อยคำในป้ายดังกล่าวก็เป็นการปกป้องหลักธรรมดาทางวิชาการของงานประชุม ซึ่งศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่นั้นก็ย่อมไม่ใช่ค่ายทหารอย่างแน่นอน ถ้อยคำที่เป็นข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นการแสดงออกโดยชอบธรรมด้วยสิทธิเสรีภาพดังที่ได้อนุญาตไว้ในรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยแต่อย่างใด

 

 

พนักงานสอบสวนเห็นควรฟ้องคดี ก่อนผู้ต้องหานำพยานนักวิชาการเข้าให้การเพิ่มเติม

ต่อมา ทางพนักงานสอบสวนสภ.ช้างเผือก ได้ระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 60 ที่ประชุมของทางจังหวัดเชียงใหม่ได้มีมติให้พนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ และให้นัดหมายผู้ต้องหาไปส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการศาลแขวงในวันที่ 11 ก.ย. 60 ทางผู้ต้องหาจึงได้เข้ารายงานตัวกับอัยการตามนัด และได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับอัยการมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญอีก 5 คน เพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของผู้ต้องหาด้วย

เมื่ออัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานบุคคลเพิ่มเติมได้ ทางผู้ต้องหาจึงได้มีการทยอยนำพยานนักวิชาการเข้ายื่นคำให้การเพิ่มเติม ได้แก่

  • ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้การถึงที่มาที่ไปและความสำคัญของงานประชุมวิชาการไทยศึกษา สถานการณ์ในการประชุมในปีนี้ และยืนยันถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการ
  • รศ.ดร.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การถึงการพิจารณาข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ว่าไม่เข้าข่ายการปลุกระดมทางการเมือง และเป็นเพียงความต้องการสื่อสารของคนกลุ่มเล็กๆ ในพื้นที่ทางอาชีพ ไม่จัดอยู่ในขั้นตอนของการก่อให้เกิดขบวนการทางสังคมหรือการเมืองได้
  • รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การถึงการพิจารณาข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นเพียงการบอกให้ทราบ ไม่ได้ปลุกเร้าให้กระทำการใด
  • ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้การถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการคุ้มครองทั้งในรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี รวมทั้งลักษณะคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ที่มีเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และยังไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อมีการใช้พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ แทน
  • ดร.อิสระ ชูศรี อาจารย์จากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักภาษาศาสตร์ ให้การชี้ว่าการยกข้อความในป้ายออกจากบริบท เพื่อเน้นการต่อต้านรัฐบาล ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และหากพิจารณาข้อความก็ไม่มีลักษณะเป็นการยุยงปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางด้านการเมือง

 

 

ผู้ต้องหาต้องไปรายงานตัวกับอัยการทุกเดือน รวม 10 ครั้ง พร้อมทหารติดตามทุกเดือนเช่นกัน

ระหว่างที่สำนวนคดีนี้อยู่ที่ชั้นอัยการ ทางอัยการยังให้ผู้ต้องหามารายงานตัวที่สำนักงานอัยการทุกๆ เดือน เดือนละหนึ่งครั้ง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ถึงเดือนมิถุนายน 2561 รวมกันแล้วผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ไปรายงานตัวที่อัยการมาแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง

เมื่อทำสำนวนแล้วเสร็จ อัยการเจ้าของสำนวนยังต้องส่งสำนวนไปที่อธิบดีอัยการภาค 5 ให้พิจารณาก่อนด้วย เนื่องจากตามพ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวงฯ หากพ้นกำหนดยื่นฟ้องใน 30 วัน การสั่งฟ้องของอัยการต้องได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุดหรืออธิบดีอัยการภาคก่อน

ในการเข้ารายงานตัวของผู้ต้องหาช่วงเดือนกันยายน 2560 อัยการยังได้เชิญ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้ต้องหาที่ 1 เพียงคนเดียว เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร ได้แก่ พ.อ.สุรศักดิ์ สุขแสง หัวหน้าฝ่ายข่าวของมณฑลทหารบกที่ 33 ซึ่งมารออยู่ภายในห้องทำงานของอัยการอีกด้วย

น่าสังเกตด้วยว่าในการรายงานตัวแต่ละครั้ง ยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายคอยเข้าติดตามสังเกตการณ์ บันทึกภาพหรือเสียงในขณะผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวในสำนักงานอัยการ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานอัยการแขวงระบุด้วยว่าทางเจ้าหน้าที่ทหารได้มีการเข้ามาสอบถามความคืบหน้าของคดีเป็นประจำทุกเดือนอีกด้วย

ในเดือนมีนาคม 2561  อัยการได้แจ้งผู้ต้องหาว่าสำนวนคดี ได้ถูกส่งกลับมาจากการพิจารณาของอธิบดีอัยการภาค 5 แล้ว และมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง  5 คน แต่ทางผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเพื่อขอให้สั่งไม่ฟ้องคดี ต่ออัยการสูงสุดผ่านทางอัยการภาค และยังยื่นต่ออัยการสูงสุดโดยตรงอีกด้วย โดยระบุเหตุผลว่าการฟ้องคดีต่อผู้ต้องหาทั้ง 5 จะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทางอัยการจึงได้พิจารณาเลื่อนการสั่งฟ้องออกไป เพื่อพิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรม และส่งสำนวนกลับไปที่อธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อพิจารณาอีกครั้งด้วย

กระทั่งเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 61 ในการเข้ารายงานของผู้ต้องหา อัยการระบุว่าสำนวนคดีได้กลับมาจากทางอธิบดีอัยการภาค 5 แล้ว และทางอัยการภาคยังคงยืนยันความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ โดยยังไม่ต้องรอความเห็นอัยการสูงสุดก่อน ทำให้อัยการนัดหมายผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ไปสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ในวันที่ 4 ก.ค. นี้ ในที่สุด

 

 

X