เราจะล้างผลพวงรัฐประหารอย่างไร: ข้อคิดจากเกาหลีใต้

   

ภาพที่ 1 ประตู main gate ของ Korea University

ภาพข้างบนนี้ถ่ายจากหน้าประตู ‘main gate’ ของ Korea University เป็นเครื่องเตือนใจถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยและชาวบ้านในชุมชน  Anam ของกรุงโซล ออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร ในปี 1960

เกาหลีใต้และไทยดูจะไม่ห่างกันมากในแง่ความลุ่มๆดอนๆ ของเสถียรภาพประชาธิปไตย เพราะการรัฐประหารและปราบปรามประชาชนบ่อยครั้งตลอดหน้าประวัติศาสตร์ ความแตกต่างอยู่ที่ว่าพวกเขาเรียนรู้ที่จะเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยจนเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ ด้วยข้อคิดง่ายๆว่า

“We will not forget what they wanted”

 

การต่อสู้ของประชาชนเกาหลีใต้

หนึ่งในการรำลึกถึงความสูญเสียในอดีตของประชาชนเกาหลีใต้ เกิดขึ้นในปี 2012 เมื่อมีการสร้างภาพยนตร์เกาหลีใต้ชื่อ ‘National Security’ (Namyeong-dong 1985 in Korean) บทภาพยนตร์เขียนขึ้นมาจากความทรงจำของ คิม กึน แต อดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและนักการเมือง เขาถูกลักพาตัวและถูกซ้อมทรมานเพื่อบีบบังคับให้รับสารภาพโดยเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของรัฐบาลนายพลชุน ดู ฮวาน

กรณีของคิม กึน แต เป็นเพียงกรณีการละเมิดสิทธิ์เพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ท่ามกลางการกวาดล้างประชาชนจำนวนมาก ภายใต้ระบอบเผด็จการอันยาวนานของนายพล ชุน ดู ฮวาน ระหว่างทศวรรษที่ 1980’s สะท้อนถึงแบบแผนการละเมิดสิทธิประชาชนภายใต้ระบอบเผด็จการได้เป็นอย่างดี หนังเรื่องนี้นำข้อถกเถียงถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านในเกาหลีใต้กลับมาเบ่งบานอีกครั้ง

ภาพที่ 2 โปสเตอร์ภาพยนต์ Namyeong-dong 1985

นับตั้งแต่นายพลชุน ดู ฮวาน ทำการรัฐประหารขึ้นครองอำนาจทางการเมือง หลังเหตุการณ์สังหารอดีตประธานาธิบดี ปัก จุง ฮี ในปี 1979 ประชาชนเผชิญการละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างกว้างขวาง มีผู้คนถูกทำร้ายในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจับกุมนักเขียน นักกิจกรรม การกวาดล้างผู้นำฝ่ายซ้าย การสลายการชุมนุมคนงาน นักศึกษาประชาชนอีกหลายระลอก ประชาชนนับแสนคนถูกป้ายสีว่าบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ มีการซ้อมทรมาน ผู้คนจำนวนไม่น้อยสูญหายและหากยังมีชีวิตอยู่ก็ได้รับความกระทบกระเทือนทั้งร่างกายและจิตใจ ฯลฯ

สัญญาณของการเปลี่ยนผ่าน เกิดขึ้นหลังการลุกฮือของประชาชนชาวเกาหลีใต้อีกครั้งในปี 1987 จนสามารถกดดันให้สภานิติบัญญัติแก้กฎหมายให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี มีการเรียกร้องให้มีการชำระประวัติศาสตร์บาดแผลโดย โร แต วู ประธานาธิบดีที่สืบทอดอำนาจจากนายพลชุน ดู ฮวาน เริ่มแสดงการยอมรับความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ด้วยการสร้างอนุสรณ์สถานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และตรากฎหมายฟื้นฟูเกียรติให้แก่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ

ในปี 1989 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยโจมตีพิเศษระหว่างการลุกฮือของชาวเมืองกวางจู ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบทางมโนธรรม และเปิดเผยข้อมูลการทารุณกรรมของกองทัพต่อประชาชน จนกระทั่งในปี 1990 องค์กรภาคประชาสังคม 41 องค์กรจัดกิจกรรมรำลึกการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวเมืองกวางจู และนั่นปูทางสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมของเกาหลีใต้

เมื่อเกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ระหว่างปี 1995-2010 ก็ทำให้ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมในสังคมเกาหลีใต้ก้าวหน้าอย่างมีพัฒนาการตามมาเป็นลำดับ จนกระทั่งในปี 2010 มีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงขึ้นมา และรัฐบาลพลเรือนทยอยออกแบบขั้นตอนต่างๆอย่างละเอียดลออ เพื่อชำระความผิดที่ระบอบเผด็จการกระทำต่อประชาชน

 

กฎหมายพิเศษอุทิศแด่ขบวนการประชาธิปไตย “May 18”

การเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลพลเรือนเปิดฉากขึ้นได้ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการค้นคว้าหาความจริงและคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย มีการเรียกร้องอย่างสูงในหมู่ประชาชนในการคืนความยุติธรรมให้แก่ “ขบวนการประชาธิปไตย” (Democratization Movement) ซึ่งตกเป็นเหยื่อของปราบปรามของระบอบเผด็จการ ที่เมืองกวางจู เมื่อปี 1980

แม้ว่าประธานาธิบดีพลเรือนในเวลานั้นอย่างนายคิม ยอง ซัม (1992-1997) จะวิจารณ์การกระทำของอดีตประธานาธิบดี นายพลชุน ดู ฮวาน อยู่บ้าง แต่คิม ยอง ซัมกลับเชื่อว่าการดำเนินคดีทั้งสองอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพการเมืองและความไม่สงบทางสังคม คิมโต้แย้งความพยายามฟ้องร้องคดีอาญาต่ออดีตประธานาธิบดี ชุน ดู ฮวาน โดยกล่าวว่า “ให้ความจริงควรสงวนไว้สำหรับการตัดสินทางประวัติศาสตร์ในอนาคต” ในระหว่างที่เขาสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1993 มีผู้ชุมนุมไปขัดขวางคิม ยอง ซัมเข้าคารวะสุสานมังวอนทง เพราะโกรธแค้นจากข้อความดังกล่าว

ในปี 1994 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและญาติผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูในปี 1980 ได้เรียกร้องให้มีค้นหาความจริงและดำเนินคดีกับชุน ดู ฮวาน และพวกในข้อหากบฏ ฆาตกรรม และทรยศต่อชาติ

แรกเริ่มเดิมที อัยการของกรุงโซลตัดสินใจที่จะระงับการดำเนินคดีกับอดีตผู้นำกองทัพ 2 คน คือชุน ดู ฮวาน และ โร แต วู  โดยมีความเห็นว่าการยึดอำนาจเมื่อปี 1979 เป็นการรัฐประหารที่กระทำการสําเร็จ แต่ก็ทำการควบคุมเฉพาะกิจการของกองทัพเท่านั้น ในขณะที่สถาบันทางการเมืองหลักอื่นๆ ยังคงทำงานต่อไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญซึ่งมิได้ถูกยกเลิกหรืองดการบังคับใช้จากคณะรัฐประหารแต่อย่างใด ดังนั้นรัฐบาลคิม ยอง ซัม จึงยังคงเป็นผลต่อเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่

ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในปี 1995 ว่าการตัดสินใจไม่ฟ้องร้องเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่พอใจกระจายในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การเคลื่อนไหวกดดันอีกครั้ง

 

การเปลี่ยนคำวินิจฉัยครั้งสำคัญ

มีการเปิดเผยข้อมูลทุจริตของเผด็จการทั้งสองออกมาเป็นระยะจากองค์กรประชาสังคมต่างๆในเกาหลีใต้ จนสามารถกดดันให้รัฐบาลคิม ยอง ซัม รัฐบาลพลเรือนในเวลานั้นดำเนินการคืนความเป็นธรรมและตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตของชุน ดู ฮวาน และ โร แต วู

ในเวลาต่อมา รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายพิเศษเพื่อพิจารณาเหตุการณ์การปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 1980 โดยฝ่ายจำเลยได้ต่อสู้ว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญใน 2 ประการ คือ

หนึ่ง การออกกฎหมายพิเศษนี้เป็นการออกกฎหมายเพื่อมุ่งเอาผิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองไว้

สอง การออกกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อหลักนิติรัฐในประเด็นเป็นการออกกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลัง

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับรองกฎหมายฉบับนี้ ด้วยเหตุผลว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ทำไปโดยคํานึงถึงหลักการพื้นฐานที่สําคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชําระสะสางความผิดพลาดในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นเรื่องที่ต้องทําเพื่อให้สังคมคลายความเคลือบแคลงสงสัย อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญยังยืนยันอีกว่าการค้นหาความจริงจากเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 พ.ค.1980 ไม่ขัดกับหลักการกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลัง

คำวินิจฉัยนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้น ให้แก่การตรากฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อเปลี่ยนผ่านความยุติธรรมภายในประเทศ โดยกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ดำเนินไปในกรอบการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองใน 4 ประการคือ

  1. ดําเนินคดีกับอดีตผู้นําที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรง
  2. ปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย
  3. เยียวยาความเสียหายให้แก่เหยื่อและญาติของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และ
  4. ค้นหาความจริงเพื่อนําไปสู่การชําระความผิดพลาดที่รัฐเป็นผู้กระทําในอดีต

 

การล้างผลพวงการรัฐประหารของไทย

ภาพที่ 3 ประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร ปี 2557 ในไทย ที่มา: Banrasdr Photo

จากบทเรียนของประเทศเกาหลีใต้ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนการละเมิดสิทธิประชาชนตลอด 4 ปีที่ผ่านมากันใหม่อีกครั้ง แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านความรุนแรงทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ยังไม่เคยมีครั้งใดที่ผู้กระทำความผิดจะถูกนำตัวมาลงโทษ เราอาจจะเริ่มคิดถึงเรื่องนี้ได้จากเหตุการณ์ร่วมสมัยที่สุดคือ หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ทำรายงานรวบรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา พบว่า มีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การควบคุมตัวติดตาม การควบคุมการเผยแพร่ข่าว ตลอดจนการจับกุมดำเนินคดีต่อผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ เป็นไปอย่างกว้างขวาง

แม้ว่ารัฐบาล คสช. จะประกาศให้ปี 2561 เป็นปีแห่งการดำเนินการให้ “สิทธิมนุษยชน” เป็นวาระแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งกำหนดไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ดังปรากฏตัวอย่างในตารางสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ที่มา: รายงาน 4 ปีภายใต้ คสช. สิทธิมนุษยชน และผลพวงรัฐประหารต่อสังคมไทย โดยศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน

 

สมานแผลของประวัติศาสตร์

ในวาระครบรอบ 4 ปี ของการยึดอำนาจของคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงเสนอวิธีจัดการกับผลพวงการรัฐประหาร ตลอด 4 ปี ของไทย อันแสดงให้เห็นว่าภายใต้ความสงบของการปกครองในระบอบรัฐประหาร เมื่อลงลึกไปในแต่ละกรณี เราจะพบความเจ็บปวดมากมายจากเหยื่อ ที่เป็นเพียงประชาชน “ผู้เห็นต่าง” ในทางการเมือง กลับต้องกลายมาเป็น “เป้าหมาย” ในการจัดการของรัฐตลอด 4 ปี หลังการรัฐประหารเป็นมา  

เพื่อยับยั้งมิให้ผลพวงจากการรัฐประหารได้รับการรองรับและบังคับใช้ในภายภาคหน้า รวมถึงเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้กลายเป็นข้อยกเว้นภายใต้เหตุผลความมั่นคงของรัฐอีก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงทางกฎหมายของ คสช. โดยมีตัวอย่างคร่าวๆดังนี้

 

แยกทหารออกจากการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชน

ข้อเสนอนี้ให้จำกัดบทบาทของทหารโดยแยกเด็ดขาดจากการใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนโดยแท้ โดยอย่างน้อยที่สุด กองทัพต้องยุติการดำรงตำแหน่งและการปฏิบัติการในงานบริหาร นิติบัญญัติ และในคณะกรรมการชุดต่างๆ ทั้งหมด และต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเป็นธรรมและโดยเร็วที่สุด โดยต้องแก้ไขมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ให้อำนาจ คสช. แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน โดยการเสนอชื่อจาก กกต.

จัดการกับผลพวงทางกฎหมาย ข้อเสนอนี้แบ่งชุดกฎหมายออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

ชุดที่ 1 กฎหมายที่มาจากโครงสร้างหรือวิธีการออกโดยมิชอบ กล่าวคือ ชุดกฎหมายที่ออกโดยคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งมิได้มาจากฐานการใช้อำนาจนิติบัญญัติของประชาชน ได้แก่ รัฐธรรมนูญ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ต้องได้รับการทบทวนผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่จะดำเนินการทบทวนนั้น อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการ พรรคการเมือง หรือหน่วยงานรัฐ/องค์กรอิสระก็ตาม

ชุดที่ 2 คือกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการบังคับใช้โดยมิชอบ เป็นชุดกฎหมายซึ่งเป็นความผิดทางอาญาที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้ว แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตีความและบังคับใช้อย่างเข้มข้นหลังการรัฐประหาร โดยไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการจัดการกับบุคคลซึ่งเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.

ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และใช้ฐานกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้ศาลวินิจฉัยคำพิพากษามีคำรับรองสิทธิทางการเมืองของประชาชน

การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล ต้องยกเลิกการนำพลเรือนเข้าสู่การพิจารณาของศาลทหาร เพื่อยืนยันหลักความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาล พนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน ต้องยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงพยานหลักฐาน สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย นอกจากนี้ ต้องออกกฎหมายให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาในศาลทหาร เนื่องจากคดีเกิดขึ้นระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก ให้สามารถอุทธรณ์ฎีกาต่อศาลยุติธรรมได้ และขอรับการเยียวยาจากรัฐทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและมิใช่ตัวเงิน รัฐควรต้องประกันระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรตุลาการกับประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอันแท้จริงตามระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นอัยการ ต้องยกเลิกการเข้ามากำกับและควบคุมการใช้ดุลพินิจในการสั่งคดีของพนักงานอัยการไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ตลอดจนสร้างระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างการปฏิบัติงานของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน โดยการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 115/2557 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานฝ่ายตำรวจมีดุลพินิจเหนือพนักงานอัยการในการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี นอกจากนี้ ต้องยุติการดำเนินคดีซึ่งเป็นผลมาจากการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปรามบุคคลซึ่งเห็นต่างด้วยการใช้ช่องทางสั่งไม่ฟ้องคดี

เยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของทหาร

การเยียวยาประชาชนเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยมีข้อเสนอ 2 ประเภท ตามรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ ประเภทที่ 1 การเยียวยาประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ไม่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ บุคคลที่ยอมรับข้อตกลงอันจำกัดสิทธิบางประการ ตาม MOU ที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ทหาร บุคคลที่ลี้ภัยทางการเมือง และบุคคลที่ถูกติดตาม ข่มขู่ หรือควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อันละเมิดต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ

ประเภทที่ 2 การเยียวยาประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยถูกรัฐ/เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดี ได้แก่ บุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดทางอาญาฐานต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 2 อันเนื่องมาจากเหตุจูงใจทางการเมือง หรือตกเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งสามารถแบ่งพิจารณาตามช่วงชั้นการดำเนินคดีของทั้งศาลยุติธรรมและศาลทหาร

จัดการคำพิพากษาที่รับรองความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหาร สร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย และการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิ้นผลไป

การจัดการคำพิพากษาที่มีลักษณะดังนี้ ศูนย์นายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้คำพิพากษาแบ่งออกเป็น 2 ชุด

ชุดที่ 1 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งรับรองความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ในการทำรัฐประหารของ คสช. เพื่อลบล้างความชอบด้วยกฎหมายและความสมบูรณ์ของการกระทำรัฐประหารโดย คสช. ต้องทำให้คำพิพากษา ซึ่งอย่างน้อยที่สุด คำพิพากษาฎีกาที่ 3578/2560 คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่วินิจฉัยว่า คสช. มีฐานะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ แม้พระมหากษัตริย์ยังไม่มีพระบรมราชโองการรองรับสถานะของ คสช. ต้องสิ้นผลไปทันที ทั้งนี้ เพื่อทำลายหลักในการวินิจฉัยว่าการใช้อำนาจอันไม่ชอบด้วยวิถีทางประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ต้องถูกลบล้างและไม่ถูกนำมาอ้างโดยสถาบันตุลาการในอนาคต

ชุดที่ 2 กลุ่มคำพิพากษาซึ่งสร้างเอกสิทธิ์คุ้มครองมิให้ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับโทษทางกฎหมาย และกลุ่มคำพิพากษาซึ่งนำกฎหมายอันละเมิดสิทธิเสรีภาพมาวินิจฉัยเพื่อลงโทษประชาชน กลุ่มคำพิพากษาซึ่งเป็นผลมาจากการปรับใช้มาตรา 44 มาตรา 47 และ 48 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ตลอดจนคำพิพากษาที่วินิจฉัยตามประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งอาศัยฐานอำนาจตามมาตราดังกล่าวในการออกและบังคับใช้เป็นกฎหมาย ต้องทำให้สิ้นผลไป

บทเรียนและข้อเสนอพอสังเขปที่กล่าวมา ทำให้เราเห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อนำไปสู่การสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน มิใช่เรื่องง่ายที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะผลักดันอย่างโดดเดี่ยว หากจะต้องกระทำด้วยความละเอียดละออ และต้องอาศัยความพร้อมใจในวงกว้างเพื่อผลักดันข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมโดยเคารพจิตวิญญาณวีรชนประชาธิปไตยในอดีตเป็นหลักหมาย ทั้งนี้เป้าหมายทั้งหมดไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่าการคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้สูญเสีย และพาบ้านเมืองเดินไปให้พ้นจากกับดักทางประวัติศาสตร์บาดแผลกันเสียที

 

รายการอ้างอิง

Kuk Cho. 2007. “Transitional Justice in Korea: Legally Coping with Past Wrongs after Democratization.” Pacific Rim Law & Policy Journal 16 (3): 579-611

Paul Hanley. 2014. Transitional Justice in South Korea: One Country’s Restless Search for Truth and Reconciliation, 9 U. Pa. E. Asia L. Rev. 139

 

X