กว่าจะเดินถึงเสรีภาพ: ประมวลคดี We Walk…เดินมิตรภาพ

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 61 ทางพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 8 คนที่ร่วมกิจกรรม ‘We Welk เดินมิตรภาพ’ โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมของผู้จัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อันมิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย อีกทั้งการชุมนุมนี้ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น พนักงานอัยการจึงพิจารณาว่าการชุมนุมนี้มิได้มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด การกระทำของผู้ต้องหาทั้งหมดจึงไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา

คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการพร้อมกับการต่อสู้ทางคดีของกลุ่มเครือข่ายนี้ นับเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ยืนยันว่าการชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นเสรีภาพที่ประชาชนสามารถทำได้ และควรได้รับการรับรอง ตลอดทั้งคุ้มครองโดยปราศจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐ และเจ้าหน้าที่ในการจำกัดการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มากไปกว่านั้น การดำเนินคดีกับผู้ร่วมกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ยังมีข้อสังเกตที่ควรค่าแก่ศึกษา คือ ความพยายามในการใช้สิทธิเสรีภาพหลายของผู้ร่วมกิจกรรมโดยตรงและผู้ร่วมสนับสนุนทั่วประเทศ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงประมวลสถานการณ์ความพยายามเเละเรียบเรียงการคุกคามที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือเเม้เเต่ผู้สนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวต้องพบเจอมาในบทความ ดังนี้ 

 

“We Walk เดินมิตรภาพยืนยันสิทธิของประชาชน

(ภาพเจ้าหน้าที่ปิดกั้นการเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ของกลุ่ม People GO Network)

ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 61 ถึง 17 ก.พ. 61 เครือข่ายประชาชน People Go Network จัดกิจกรรม ‘We Walk  เดินมิตรภาพ’ โดยเป็นการเดินเท้าระยะทาง 450 กิโลเมตรจากปทุมธานีถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นหลักประกันสุขภาพ ที่จะสามารถดูแลทุกคนในประเทศ, ประเด็นนโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงทางอาหาร ประเด็นกฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน-สิทธิชุมชน และประเด็นรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน[1] โดยทางเครือข่ายฯ จัดงานลำดับการทำกิจกรรมตั้งแต่การจัดการเสวนาเรื่องสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน การละคร ดนตรี ฉายภาพยนตร์ และจัดตลาดอาหารปลอดภัย รวมทั้งกิจกรรมการเดินเท้าที่จะเริ่มจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี มุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น รวมเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน

ด้วยเหตุที่การจัดกิจกรรมอยู่ในระหว่างการบังคับใช้พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 เวลา 16.05 น.  ผู้จัดกิจกรรมจึงทำหนังสือแจ้งการจัดการชุมนุมและเดินเท้าต่อสภ.คลองหลวง ซึ่งเป็นขั้นตอนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฯ  โดยระบุถึงความประสงค์จะจัดการชุมนุมและเดินทางไกล เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาการคุกคามต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายใต้ชื่อ ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ 

วันที่ 19 ม.ค.2561 เวลาประมาณ 12.03 น. ทางสภ.คลองหลวงมีหนังสือสรุปสาระสำคัญการชุมนุมตอบกลับมา ตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยมีเนื้อความระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 และแนะนำให้ผู้จัดการชุมนุมใช้ยานพาหนะในการเดินทางแทนการเดินเท้า รวมถึงให้ผู้จัดการชุมนุมพึงระมัดระวังและควบคุมผู้ร่วมการชุมนุมมิให้ปฏิบัติในลักษณะขัดขวางหรือต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ หรือแสดงป้ายและสัญลักษณ์ต่อต้านการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มิเช่นนั้นจะเข้าลักษณะการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้จัดการชุมนุมส่งมอบแผนผังในการชุมนุมและเส้นทางเคลื่อนย้ายตลอดเส้นทาง เพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่จัดเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม 

เวลา 16.00 ผู้จัดกิจกรรมจึงทำหนังสือยืนยันการใช้เสรีภาพในการชุมนุมผู้จัดกิจกรรมชี้แจงกลับไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การให้ขออนุญาตใช้เครื่องเสียงตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฯ อีกทั้งการใช้เครื่องขยายเสียงตามที่ได้ระบุไว้ในหนังสือแจ้งการชุมนุมนั้น ก็มิได้มีขนาดกำลังของเครื่องขยายเสียงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ การเดินเท้าบริเวณไหล่ทางริมถนนพหลโยธินต่อเนื่องถนนมิตรภาพ มิได้เป็นการกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ และมิได้ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน พร้อมทั้งระบุอีกว่า การชุมนุมสาธารณะดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฯ ที่ได้บัญญัติรับรองไว้ 

เวลา 17.00 น. ของวันเดียวกัน พันตำรวจเอกฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงจึงเดินทางมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ด้วยตนเอง โดยนำหนังสือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นข้อเเนะนำมาส่งให้ผู้จัดกิจกรรม โดยระบุว่า การจำหน่ายเสื้อยืดที่มีข้อความสื่อความหมายเกี่ยวข้องทางการเมือง และมีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันมาลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมายนั้น ไม่ใช่การจัดกิจกรรมที่เป็นการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฯ แต่มีลักษณะเป็นการชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 จึงให้ผู้จัดการชุมนุมยื่นคำร้องขออนุญาตการชุมนุมต่อหัวหน้าคสช. หรือผู้ได้รับมอบหมายแยกต่างหาก

เวลา 22.00 น. ผู้จัดกิจกรรมจึงทำหนังสือยืนยันเสรีภาพในการชุมนุมอีกฉบับส่งกลับไปยังสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ระบุว่า กิจกรรมซึ่งจัดในวันที่ 19 ม.ค.2561 นั้น เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในสถานศึกษาเเละเป็นกิจกรรมที่จัดก่อนระยะเวลาที่เเจ้งการชุมนุม ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  ส่วนกิจกรรมชักชวนลงลายมือชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. ขององค์กรเครือข่ายนั้น เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 133 และยังเป็นกิจกรรมที่ พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และคสช. ไม่ได้ห้ามจัดกิจกรรรมดังกล่าว

 

ตำรวจ 200 นายตั้งแถวปิดทางเข้าออกของมหาวิทยาลัย ประกาศให้หยุดการชุมนุมและรอการเจรจาจากทหาร  พร้อมแจกน้ำและเปิดเพลงคืนความสุขให้กับผู้ร่วมเดินขบวนฟัง

ตั้งแต่เวลาประมาณ 7.00 น. ถึงตลอดทั้งวัน ของวันที่ 20 ม.ค. 61 ที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขณะที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเริ่มตั้งเเถวเเละชูธง เพื่อที่จะเดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต ก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่อง เเละเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบติดตามถ่ายภาพและวิดีโอกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมอย่างใกล้ชิด ขณะที่หน้าประตูภายนอกมหาวิทยาลัย ด้านถนนพหลโยธิน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอีกกว่า 100 นาย ตั้งแถวจัดเตรียมกำลังและตั้งด่านตรวจ และเพิ่มกำลังขึ้นเป็น 200 นาย โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หญิงตั้งเเถวอยู่ข้างหน้า ทั้งหมดยังวางรั้วกั้นเป็นจุดสกัดไม่ให้ขบวนผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน เดินออกไปจากมหาวิทยาลัยได้ อีกทั้งได้กักตัว ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ตัวแทนจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ประมาณ 10 นาที  ไม่ให้เข้าไปภายในจุดเริ่มต้นตั้งขบวนบริเวณวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยระบุด้วยว่ากิจกรรมที่กำลังจะไปร่วมจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ต่อมา เมื่อ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้เเจงว่า ตนทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เเละมหาวิทยาลัย ศูนย์รังสิต เป็นสถานที่ที่ตนเดินทางมาทำงานทุกวัน เจ้าหน้าที่จึงยอมให้คุณอนุสรณ์ผ่านเข้ามาร่วมอ่านแถลงการณ์ในกิจกรรมได้

(ภาพเจ้าหน้าที่กำลังเจาจากับผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) 

เวลาประมาณ 9.40 น. พ.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมมิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี เดินทางมาเจรจากับผู้จัดกิจกรรมว่า ขณะนี้กำลังหารือกับ “ฝ่ายความมั่นคง” หรือเจ้าหน้าที่ทหาร ถึงลักษณะเเละการจัดกิจกรรมดังกล่าว อีกทั้ง อ้างถึงความปลอดภัยของผู้ชุมนุมว่าอาจจะมีมือที่ 3 เข้ามาก่อความวุ่นวาย หรือมีการเอากิจกรรมไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในลักษณะบิดเบือน แต่จนเวลาล่วงเลยถึงเวลา 13.30 น. ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามาเจรจา ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็ระบุว่าไม่มีอำนาจตัดสินใจ ในขณะที่กลุ่มผู้เข้าร่วมขบวน ‘We Walk เดินมิตรภาพ’ ยังคงนั่งปักหลักรออยู่บริเวณทางเท้า โดยมีการกล่าวปราศรัยจากตัวแทนเครือข่ายประชาชนในประเด็นต่างๆ สลับกับการร้องเพลง ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เหลือก็ยังคงตั้งแถวปิดทางเข้าออกของมหาวิทยาลัยเอาไว้ พร้อมกับมีการแจกน้ำ และเปิดเพลงคืนความสุขให้กับผู้ร่วมเดินขบวนฟังด้วย

ขณะเดียวกัน ทางทนายความเครือข่ายที่ร่วมติดตามสถานการณ์ของกิจกรรม พยายามทำคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในการชุมนุม อันเนื่องมาถูกปิดกั้นการทำกิจกรรม We Walk ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เพื่อยื่นต่อศาล แต่เมื่อเดินทางถึงศาลจังหวัดปทุมธานี พบว่าศาลไม่รับคำร้อง โดยเจ้าหน้าที่ศาลระบุว่าศาลรับเฉพาะคำร้องขอฝากขังในช่วงครึ่งเช้าวันเสาร์เท่านั้น ส่วนการยื่นเรื่องขอไต่สวนฉุกเฉินให้มาจัดการในวันจันทร์แทน จนเวลาล่วงเลยถึง 16.00 น. ผู้ที่ปราศรัยอยู่หน้ามหาวิทยาลัยได้แจ้งว่ามีตัวแทนผู้เดินเท้าตัดสินใจเดินออกจากมหาวิทยาลัยไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน เป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 4 คน ทั้งหมด 3 กลุ่ม รวมเดินจำนวน 12 คน[2] และมีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบได้ขับรถกระบะและรถจักรยานยนต์ติดตามไปและถ่ายรูปผู้เดินเป็นระยะด้วย แต่ยังไม่ได้จับกุมหรือห้ามทำกิจกรรมแต่อย่างใด

ต่อมาวันที่ 20 ม.ค. 61 องค์กรสิทธิมนุษยชนรวม 142 องค์กรจึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/58 และเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม ตลอดทั้งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงาน ผู้เข้าร่วม และประชาชน ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558[3]

 

มาตรการต่อเนื่องของรัฐต่อการจัดกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพ

นอกจากลักษณะการปิดกั้นการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบของผู้จัดกิจกรรมเเละผู้เข้าร่วม “We Wall…เดินมิตรภาพ” ที่พบระหว่างจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 19-20 มกราคม พ.ศ.2561 เเล้ว ในระยะเวลาต่อมาจนดำเนินกิจกรรมครบตามแผน ยังมีมาตรการต่อเนื่องของรัฐต่อการจัดกิจกรรม ทั้งการติดตามถ่ายบัตรประชาชน ซักประวัติผู้เข้าร่วมกิจกรรม ตรวจค้นรถเสบียง เเละดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่อื่น ปรากฏต่อเนื่องจนถึงเดือนมิถุนายน 2561

(1) ขอตรวจถ่ายบัตรประจำตัวและซักประวัติผู้เข้าร่วม  เชิญทีมเสบียงสอบปากคำ โดยไม่ให้ทนายความเข้าร่วมฟังโดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาจนถึงปัจจุบัน

(ภาพเจ้าหน้าที่วางกำลังหน้า อบต.ลำไทร จ.พระนครศรีอยุธยา)

วันที่ 21 ม.ค. 61  เวลา 04.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปบริเวณจุดพักของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งพักอยู่ที่วัดลาดทราย จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วตะโกนถามหาหัวหน้ากลุ่ม เวลาประมาณ 05.00 น. จึงพบว่ามีเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 100-200 นายและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 20 คนเข้ามาบริเวณวัด จนกระทั่งเวลา 06.00-07.00 น. เจ้าหน้าทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจปากทางออกวัด โดยเรียกรถทุกคันในขบวน เพื่อตรวจและถ่ายรูปสำเนาทะเบียนรถ บัตรประชาชน และซักถามประวัติ และกักรถสวัสดิการซี่งบรรทุกสัมภาระที่จำเป็นและน้ำสำหรับแจกจ่ายให้ผู้ร่วมเดิน โดยให้เหตุผลว่าบรรทุกสัมภาระเยอะเป็นที่น่าสงสัย

เวลาประมาณตั้งแต่ 07.00 – 09.00 น. เจ้าหน้าที่จึงให้รถสวัสดิการเคลื่อนไปจอดที่ อบต.ลำไทรซึ่งอยู่ติดกับวัด พร้อมทำการตรวจค้นรถอย่างละเอียดโดยไม่มีหมายค้น เเต่อ้างอำนาจทหารโดยมี พล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา เป็นหัวหน้าชุดในการตรวจค้น นอกจากนี้ได้นำตัวทีมสวัสดิการ 4 คน ได้แก่ นางสาววศินี บุญที นายนิติกร ค้ำชู นายอาคม ศรีบุตตะ และนายนนท์ (นามสมมติ) ไปสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่เเจ้งในเบื้องต้นว่ามิใช่การดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา เเละไม่อนุญาตให้ทนายความร่วมรับฟัง โดยการสอบปากคำนี้มีผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกันรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และทหารในพื้นที่สระบุรีอีกหลายนาย อีกทั้งมี ตำรวจประมาณ 100 นายตรึงกำลังอยู่หน้าอบต. ลำไทร จนเวลาประมาณ 10.30 น. ทีมสวัสดิการจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องประชุมของอบต. ลำไทร

จากการพูดคุยกับผู้ถูกสอบปากคำทั้ง 4 ได้ข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนที่ทำการสอบปากคำเป็นพนักงานสอบสวนจาก สภ.คลองหลวง ทำการสอบปากคำทั้ง 4 ในฐานะพยาน โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ร่วมในการสอบปากคำด้วย ประเด็นที่สอบถามเป็นการเชื่อมโยงถึงกิจกรรมเดินของเครือข่าย People GO Network ว่า แต่ละคนมาเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้ได้ยังไง หลังจากสอบปากคำเสร็จพนักงานสอบสวนได้ให้ทั้ง 4 คน ลงชื่อในบันทึกตรวจค้น และบันทึกคำให้การพยาน มี 2 คนปฏิเสธไม่ลงชื่อในบันทึกคำให้การ เนื่องจากเห็นว่า เจ้าหน้าที่ใช้กำลังปิดล้อมไม่ให้เดินทาง และค้นรถพร้อมทั้งสอบปากคำ โดยไม่แจ้งเหตุ ไม่มีหมาย

ตารางที่ 1 รายชื่อทีมสวัสดิการซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบปากคำ

(2)  สัปดาห์แรกกับการรบกวนและสกัดเพื่อไม่ให้กิจกรรมบรรลุเป้าหมาย

– กดดันทางวัดมิให้ผู้ชุมนุมเข้าพัก 

วันที่ 21 22 เเละ 23 ม.ค.2561 ทางผู้ชุมนุมพบว่าวัดสหกรณ์ วัดห้วยขมิ้น เเละวัดสุวรรณคีรี ซึ่งผู้จัดกิจกรรมเคยประสานงานไว้ล่วงหน้าเพื่อขอเข้าพักนั้น ไม่อนุญาตให้ผู้จัดเเละผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดเข้าพักเเล้ว ทางวัดเเจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเเละทหารเเจ้งไปยังวัดดังกล่าวโดยกดดันมิให้วัดอนุญาตให้ผู้จัดเเละผู้เข้าร่วมกิจกรรมเข้าพัก ทั้งหมดจึงต้องหาที่พักใหม่

 – สกัดไม่ให้ไปร่วมเดิน

ทหารและตำรวจโทรศัพท์หากลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมตัวกันคัดค้านการทำเหมืองทอง ในพื้นที่อ.นาหนองบง จ.เลย เเล้วสอบถามชาวบ้านว่า จะเข้าร่วมเดินกับกลุ่ม People GO Network ไหม ไม่เข้าร่วมได้ไหม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ากลัวชาวบ้านจะถูกจับ เมื่อสมาชิกกลุ่ม อธิบายว่า สมาชิกบางส่วนไปเข้าร่วมกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” เพราะไม่อยากให้สร้างเหมือง เจ้าหน้าที่จึงบอกต่อไปว่า ไปทำอย่างอื่นได้ไหมที่ไม่ใช่ไปร่วมเดิน สมาชิกกลุ่มรู้สึกเสียใจที่เจ้าหน้าที่กีดดันไม่ให้ไปร่วมเดิน

ส่วนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ก็มีตำรวจชุดสืบสวนจังหวัดและปลัดอำเภอบำเหน็จณรงค์ โทรศัพท์ถามคนขับรถตู้ว่าจะไปชุมนุมกับเขาด้วยหรือเปล่า ซึ่งคนขับรถตู้ตอบว่า เขาแค่รับจ้างเหมาให้ขับรถมา ไม่ได้ร่วมชุมนุม ตำรวจยังได้ส่งรูปสมาชิกกลุ่มบำเหน็จณรงค์ มาให้คนขับรถตู้คนดังกล่าวดู พร้อมทั้งถามชื่อ ทั้งนี้ คนขับรถตู้จึงรู้สึกกังวลว่าจะโดนปรับเหมือนรับจ้างเหมาคนมาให้กำลังใจยิ่งลักษณ์[4]

 – กดดันองค์กรในแถลงการณ์และเฝ้าระวังองค์กรเครือข่าย

24 ม.ค. 61 ที่ จ. ศรีสะเกษ  เจ้าหน้าที่ทหารนำใบแถลงการณ์ขององค์กรภาคประชาสังคมหนึ่ง ที่มีชื่อเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอสไอวีในพื้นที่จ.ศรีสะเกษร่วมลงนามสนับสนุนมิให้เจ้าหน้ารัฐคุกคามการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ไปสอบถามถึงการขึ้นทะเบียนองค์กรดังกล่าวกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัดศรีษะเกษ (พมจ.) เเละยังสอบถามถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าว วันต่อมาผู้ประสานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคอีสานให้ข้อมูลว่า ประธานเครือข่ายฯ ในเขตจ.ศรีษะเกษก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกพบแล้วเหมือนกัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารเเละเจ้าหน้าที่ตำรวจยังติดตามหากลุ่มผู้ติดเชื้อที่โรงพยาบาลอำเภอ 2 แห่ง ตามข้อมูลโรงพยาบาลที่ พมจ. ศรีษะเกษให้ไป

25 ม.ค. 61 ที่ จ.สุรินทร์ ณ มูลนิธิสุขภาพชุมชน มีทหาร 2 นาย ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าไปที่มูลนิธิ และพูดคุยกับประธานกรรมการมูลนิธิ  สอบถามว่ามีคนไปร่วมเดินกับ People GO Network หรือไม่ ทำไมจึงไป เเละมีเรียกร้องอะไร ประธานกรรมการมูลนิธิจึงอธิบายถึง 4 ประเด็นหลักที่ประชาชนต้องการมีส่วนร่วม โดยเจ้าหน้าที่ทหารใช้เวลาพูดคุยอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง และแจ้งว่าแค่มาดูแลความปลอดภัยให้ ไม่ได้จะมาคุกคาม[5]

เช่นเดียวกันกับที่จ. กาฬสินธุ์ ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ หนึ่งในองค์กรเครือข่ายของ People Go Network ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดตัวกิจกรรม ‘We Walk…เดินมิตรภาพ’ ตนเองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล และเจ้าหน้าที่จากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ ทั้งโทรศัพท์และเข้าไปพบที่ศูนย์ประสานสานของกลุ่มเกือบทุกวัน สอบถามว่า กลุ่มจะไปร่วมเดินไหม และเดินเพื่ออะไร เมื่อผู้ประสานงานบอกว่าจะไปร่วมกิจกรรม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า อย่าไปเยอะ จะยากในการดูแล พร้อมทั้งถ่ายรูปผู้ประสานงานไปด้วย[6]

ดำเนินคดีกับผู้สนับสนุนการรณรงค์ “We Walk ดอยเทวดา

วันที่ 5 ก.พ. 61 ที่ จ.พะเยา เวลา 11.00 น. กลุ่มเกษตรกรบ้านดอยเทวดา ต.สบบง อ.ภูซาง จ.พะเยา ทำกิจกรรมเดินมิตรภาพในพื้นที่ชุมชน โดยมีการถือป้ายและอ่านแถลงการณ์สนับสนุนกิจกรรม ‘We walk เดินมิตรภาพ’ ของเครือข่าย People Go Network พร้อมกับเรียกร้องเรื่องกฎหมายสำหรับคนจน 4 ฉบับ ได้แก่ ธนาคารที่ดิน ภาษีในอัตราก้าวหน้า สิทธิชุมชน และกองทุนยุติธรรม โดยเดินรอบหมู่บ้านเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร

ต่อมาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเริ่มติดตามหาชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเช้า โดยระบุว่าเป็นการตรวจสอบกิจกรรมที่เกิด เพราะอาจกระทบความมั่นคง รวมถึงมีโทรศัพท์จากผู้ใหญ่บ้านถึงชาวบ้าน 2 รายให้ไปติดต่อกับ สภ.ภูซาง เพื่อทำการเซ็นต์เอกสารรับทราบว่าการจัดกิจกรรมเดิน ‘We Walk เดินมิตรภาพ’  รวมแล้วมีกลุ่มชาวบ้านและนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งหมด 11 คน เดินทางไปสถานีตำรวจ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจรออยู่แล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบประมาณ 20 นาย พกอาวุธปืนยาว เเละตรึงกำลังอยู่ทั้งบริเวณในและนอกสถานีตำรวจอีกด้วย ทั้ง 11 คนอยู่ที่สถานีตำรวจตั้งแต่ช่วงเย็นต่อเนื่องถึงเที่ยงคืนของวันนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบประวัติพฤติการณ์การทำกิจกรรม โดยต้องรอฟังคำสั่งของเจ้าหน้าที่หน่วยต่าง ๆ ทั้งที่ไม่มีทนายความร่วมรับฟัง มีเพียงเจ้าหน้าที่จากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และสหพันธ์เกษตรภาคเหนือ เข้าร่วม

เมื่อล่วงเลยเข้าเช้ามืดของวันที่ 6 ก.พ. 61 เวลา 3.30 น. ที่สภ.ภูซาง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเริ่มแจ้งข้อกล่าวหากับชาวบ้านและนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรม รวมจำนวน 10 ราย ไม่รวมเยาวชนอายุ 16 ปี ซึ่งมีอาการพิการทางสมอง ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และมีหมายเรียกให้ผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 รายซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในจังหวัดเชียงรายที่เคยมาออกค่ายในพื้นที่และคุ้นเคยกับชาวบ้านบางส่วน มารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม (แต่อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คนหลังนี้) โดยเอกสารในคดีปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ได้แก่ ร.ท.อดุลย์ ไชยศรีทา สังกัดกรมทหารราบที่ 17 พัน 4 ค่ายขุนเจืองธรรมิกราช จังหวัดพะเยา เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านกลุ่มดอยเทวดา กับทางตำรวจ

เวลาประมาณ 6.00 น. หลังแจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงคำโดยทันที ทำให้สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรดอยเทวดา ต้องประสานงานจัดการเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัวโดยเร่งด่วน ซึ่งศาลจังหวัดเชียงคำอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา ด้านผู้ต้องหาทั้ง 10 ราย ได้ยื่นขอประกันตัวในระหว่างชั้นสอบสวน และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้ยื่นหลักทรัพย์รายละ 5,000 บาท เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง จึงขอให้มีหลักทรัพย์ในการประกันตัวเอาไว้ และให้มารายงานตัวที่ศาลทุกๆ 6 วัน

วันที่ 6 มี.ค. 61 ก่อนวันนัด กลุ่มผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวต่อศาล 2 วัน เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลขอถอนการฝากขังด้วยเหตุรวบรวมพยานหลักฐานจนเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ต้องหาจึงไม่ต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ศาลอีกในวันที่ 8 มี.ค. 61 ตามหมายนัดเดิม

ปลายเดือนพ.ค. 61 ถึง 4 มิ.ย. 61 เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ. ภูซาง แจ้งให้ผู้ต้องหาให้เข้าไปสถานีตำรวจเพื่อลงชื่อรับทราบในเอกสารคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการ โดยมีเหตุผลในคำสั่งว่า โดยสรุปสาระสำคัญในคำสั่งว่า “แม้ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจะยังติดใจเกี่ยวกับการชูป้ายข้อความของผู้ต้องหา แต่เมื่อพิจารณาแล้ว พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พนักงานอัยการจึงมีความเห็นไม่ฟ้องคดี[7] “ ชาวบ้านเกษตรกรดอยเทวดา นักศึกษา และนักกิจกรรม จึงทยอยเข้าไปเซ็นต์รับทราบคำสั่งดังกล่าว จนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา ผู้ต้องหา “we walk ดอยเทวดา” รายสุดท้ายได้เข้าไปเซ็นรับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้ว จึงถือได้ว่าคดีนี้เป็นอันสิ้นสุดลง เนื่องจากทั้งพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการต่างมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเช่นเดียวกัน

(ภาพชาวบ้านซึ่งจัดกิจกรรม We Walk..ดอยเทวดา) 

 

เครือข่าย People Go Network ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการปิดกั้นการคุกคามกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ

วันที่ 22 ..61 เวลา 14.00 . เครือข่าย People Go Network ผู้จัดกิจกรรม ‘We Walk…เดินมิตรภาพ’ และผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คน ซึ่งเป็นผู้จัด ผู้เข้าร่วม และผู้ถูกตรวจค้นรถ พร้อมกับทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งเเวดล้อม เเละศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปยื่นคำร้องที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติเเละเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องซึ่งดำเนินการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ และเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน ให้เจ้าหน้าที่ยุติการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ และทำให้หวาดกลัวจากการใช้เสรีภาพในการชุมนุม[8] ประเด็นสำคัญในคำร้อง คือ การปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุม เป็นการละเมิดทางปกครอง และการอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เป็นการตีความกฎหมายที่กระทบกระเทือนต่อสาระของเสรีภาพการชุมนุม

(ภาพทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งเเวดล้อม เเละนายนิมิตร์ เทียนอุดม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงการยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีคุกคามการใช้เสรีภาพในการชุมนุมระหว่างจัดกิจกรรม We Walk…เดินมิตรภาพ)

ในส่วนคำขอท้ายฟ้อง และในคำร้องขอบรรเทาทุกข์ ผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเป็นการเร่งด่วน คือ “…ให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ยุติการดำเนินการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวาง ข่มขู่ ทำให้หวาดกลัวในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในระหว่างการเดินเท้าตามแผนกิจกรรมเดินมิตรภาพ และให้รับรองเสรีภาพการชุมนุม รวมถึงอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดียังได้เรียกค่าเสียหายจากการไม่สามารถใช้เสรีภาพตามมาตรา 6 ของพ...การชุมนุมสาธารณะ ฯ และมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ ฯ เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ด้วย…”

ในส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ระบุว่า หากไม่ได้รับการพิจารณาคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาโดยเร่งด่วน ย่อมทำให้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถบรรลุได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และยังคงทำให้การละเมิดเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่รัฐดำรงอยู่  ผู้ฟ้องจึงมีความประสงค์ขอให้ศาลปกครองได้ดำเนินการไต่สวนคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นการเร่งด่วน

ก่อนเวลาประมาณ 18.00 น.  ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอในส่วนไต่สวนฉุกเฉิน โดยระบุเหตุเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ต้องฟังพยานฝ่ายผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติม ในส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและคำฟ้องคดี ศาลจะมีคำสั่งต่อไป

ต่อมาวันที่ 26 .. 61 เวลา 13.00 . ที่ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกิจกรรม ‘ We Walk เดินมิตรภาพ’ ก่อนการพิพากษา หลังจากการไต่สวนศาลมีคำสั่งซึ่งสรุปสาระสำคัญ[9] ดังนี้

“…การใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายและอาจมีการปิดกั้นขัดขวางทำให้ผู้ฟ้องคดีรู้สึกหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพการชุมนุม และแม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะได้เดินทางผ่านเส้นทางในเขตรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 (จ. ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.สระบุรี) และเข้าสู่เขตรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5-7 (จ. นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น) แล้ว จึงน่าเชื่อว่าอาจจะมีการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปในเหตุที่ถูกฟ้องร้องซึ่งทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 กับพวกได้รับความเสียหายต่อไปได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง) ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ได้มีคำสั่งห้ามการชุมนุมหรือห้ามมิให้มีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายตามแผนการชุมนุมตามคำร้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 ที่มีการแจ้งต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อีกทั้ง ยังมีเหตุผลในการอนุญาตให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราวได้ คือ การมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าวนี้ไม่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ในชั้นนี้จึงมีเหตุอันสมควร ที่ศาลจะมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4…” 

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) สั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 – ที่ 7 (ผู้บัญชาการสถานีตำรวจภูธรภาค 1 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4) ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ. ศ. 2558 หรือผู้ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 19 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มิให้กระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้น ขัดขวางในการใช้เสรีภาพการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย และดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามมาตรา 19 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการดูแลการชุมนุมสาธารณะและการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคร่งครัดจนถึงวันที่ 17 ก.พ. 2561 อันเป็นวันสิ้นสุดการชุมนุมสาธารณะ แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้ร่วมชุมนุมกระทำการใดอันเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะหรือเจ้าพนักงานตำรวจในบังคับบัญชาของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ชอบที่จะพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไข หรือร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม หรือดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือกฎหมายอื่นได้

ทั้งนี้ วันที่ 12 ก.พ. 2561 สำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ถูกฟ้องคดีอื่น ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยมีข้อโต้เเย้งประการสำคัญ คือ

“…(การจัดกิจกรรมดังกล่าว) พบว่า มีการเเสดงออกในการชุมนุมที่สุ่มเสี่ยงเเละล่อเเหลม อันอาจเข้าลักษณะการกระทำที่ขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยเเละความมั่นคงแห่งชาติ ด้วยการตรวจพบว่า มีการจำหน่ายเสื้อยืดที่มีข้อความปลุกระดมเกี่ยวข้องในทางการเมือง เเละชักชวนให้ประชาชนทั่วไปลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย อันเป็นการกระทำที่เเตกต่างไปจากวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหลักการของกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ และถือว่าผู้จัดการชุมนุมนำเรื่องประโยชน์สาธารณะมาใช้แอบแฝงในการชุมนุมทางการเมือง อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย…”

 อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด ยังคงยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) โดยคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบของผู้จัดกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า

“…โดยที่เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่สำคัญประการหนึ่งของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในการที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็น การรวมพลัง หรือแสดงให้ฝ่ายปกครองได้รับรู้ และแก้ปัญหาที่ตนประสบอยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และมาตรา 45 บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมจะถูกจำกัดมิได้ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และเสรีภาพในการชุมนุมจะถูกจำกัดได้เฉพาะกรณีเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นซึ่งในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ ดังเช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย…”

 

ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 8 คน เหตุขายเสื้อ ชวนลงชื่อเลิกคำสั่งคสช. – ปราศรัย โจมตีรัฐบาล   

(ภาพระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหาของผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ประชาชน เเละเจ้าหน้าที่สถานทูต ซึ่งร่วมให้กำลังใจ ณ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี)     

31 ม.ค. 61 8 ผู้เข้าร่วมกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ” จำนวน 8 คน ซึ่งหมายเรียกจากสภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากพ.ท.ภูษิต คล้ายหิรัญ ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 4 กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ซึ่งรับมอบอำนาจจากคสช. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษว่า ผู้จัดเเละผู้เข้าร่วมกิจกรรม 8 คน ซึ่งประกอบด้วย 1. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา  2. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  3. นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์   4. สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์   5. แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ   6. นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค  7. อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก  และ 8. จำนงค์ หนูพันธ์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 โดยจัดกิจกรรมอันเป็นการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งเเต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคสช.หรือผู้ได้รับมอบหมาย

ทั้ง 8 คนจึงเดินทางไปสภ.คลองหลวงงพร้อมด้วยทนายความเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาพร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือ และจัดทำบันทึกประจำวัน ในข้อหาดังกล่าว ซึ่งหากศาลมีคำพิพากษาว่ากระทำความผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[10]

ทั้งนี้ พฤติการณ์ที่ทางเจ้าหน้าที่กล่าวหา เป็นไปตามเหตุการณ์ในวันที่ 18 ม.ค.61 ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนสภ.คลองหลวง ที่ร่วมกันตรวจสอบและติดตามพฤติการณ์ของการชุมนุมของกลุ่ม พบว่า 1) มีการจำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความสื่อความหมายเกี่ยวข้องในทางการเมือง โดยเสื้อสกรีนข้อความว่า “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” พร้อมกับมีการตั้งโต๊ะและเชิญชวนผู้มาร่วมกิจกรรมให้ช่วยกันซื้อเสื้อ  2) มีการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ร่วมกันลงลายมือชื่อยกเลิกกฎหมาย โดยมีการตั้งโต๊ะลงชื่อ ปรากฏมีกระดาษข้อความ “ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช.” ติดอยู่ที่โต๊ะ โดยมีบุคคลพูดเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อ

เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่อยู่ในอำนาจของผู้กำกับสภ.คลองหลวง แต่มีลักษณะเป็นการมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งผู้กำกับสภ.คลองหลวง ได้แจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบแล้ว แต่ผู้ชุมนุมยังยืนยันที่จะมีการชุมนุมต่อไป

เจ้าหน้าที่ยังระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.61 ตั้งแต่เวลา 8.00 น.-17.00 น.  ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ร่วมกับผู้เข้าร่วมชุมนุมอีกประมาณ 150 คน มั่วสุมจัดการชุมนุมปราศรัยบิดเบือนโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยการผลัดกันปราศรัยโจมตีรัฐบาลให้เสียหายถึงเรื่องที่ดินทำกิน กล่าวหาว่ารัฐบาลใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่นายทุน ซึ่งมีลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำ พร้อมทั้งระบุถึงบทบาทของผู้ต้องหาแต่ละคนในการจัดการชุมนุม ที่ขึ้นกล่าวปราศรัยในเเต่ละช่วงด้วย

ตารางที่ 2 รายชื่อผู้จัดเเละผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ถูกเเจ้งข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 

ทางผู้ต้องหาทั้ง 8 คนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และระบุจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพนักงานสอบสวนในภายหลัง  จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่กำหนดเงื่อนไข พร้อมกับนัดหมายผู้ต้องหาให้มารายงานตัวอีกครั้งที่สภ.คลองหลวง ในวันที่ 26 ก.พ.61 เวลา 13.00 น.

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวมีผู้ร่วมสังเกตการณ์และร่วมให้กำลังใจผู้ต้องหา ทั้งจากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เช่น ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ, รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด, รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย, อ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์, ศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ เจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การแห่งสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่สถานฑูต อาทิ ทูตจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงประชาชนเครือข่ายต่างๆ กว่า 100 คน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 30 นาย บันทึกภาพและเสียงของกิจกรรมเดินให้กำลังใจ 8 ผู้ต้องหาในช่วงเช้า พร้อมเดินติดตามนักวิชาการและประชาชนจากหน้าวิทยาลัยป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปด้วยถึงสถานีตำรวจ และมีกองกำลังตำรวจอีกส่วนหนึ่งตรึงกำลังอย่างแน่นหนา ณ สถานีตำรวจคลองหลวง 

สอบพยานเพิ่มเติมในชั้นอัยการ ร้องหนังสือขอความเป็นธรรมให้อัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องคดี รวมพิจารณากว่า 7 เดือนสะท้อนการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม คดีสิ้นสุด 

(ภาพผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ขณะรายงานตัวต่อพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี) 

(1) วันที่ 26 ก.พ. 61 พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 8 คน พร้อมสำนวนการสอบสวน ส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนมีความเห็นให้สั่งฟ้องคดี

(2) วันที่ 2 มี.ค. 61 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี[11]  ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ขอให้มีการสอบสวนพยานบุคคลเพิ่มเติมจำนวน 6 คน เพื่อสนับสนุนประเด็นข้อต่อสู้คดีต่างๆ ได้แก่ ผศ ดร.ปริญญา เทวนฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คมสันติ์ จันทร์อ่อน ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค, ยุพดี สิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

(3) วันที่ 29 มี.ค. 61 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ผู้ต้องหาทั้ง 8 คนเดินทางเข้าพบพนักงานอัยการตามนัดหมาย ส่วนพนักงานอัยการแจ้งว่า ได้เเจ้งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบพยานบุคคลเพิ่มเติม 6 ปากตามที่ผู้ต้องหาร้องขอมาในหนังสือร้องขอความเป็นธรรรมเรียบร้อยแล้ว[12]

13.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เดินทางไปยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยระบุว่า การกระทำของผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เป็นการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) รับรองไว้ และขอให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยใช้อำนาจตามมาตรา 21 พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 และระเบียบวว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ พ.ศ.2554

(4) วันที่ 1 พ.ค. 61 เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ผู้ต้องหาบางส่วนเดินทางเข้าพบพนักงานอัยการตามนัดหมาย พนักงานอัยการแจ้งว่าอัยการสูงสุดยังไม่ได้ส่งความเห็นต่อหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ไม่สั่งฟ้องคดีของผู้ต้องหา จึงเลื่อนให้มาฟังคำสั่งอีกครั้งในนัดถัดไป[13]

(5) วันที่ 5 มิ.ย. 61 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ผู้ต้องหาบางส่วนเดินทางเข้าพบพนักงานอัยการตามนัดหมาย พนักงานอัยการแจ้งว่าอัยการสูงสุดยังไม่ได้ส่งความเห็นต่อหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ไม่สั่งฟ้องคดีของผู้ต้องหา จึงเลื่อนให้มาฟังคำสั่งอีกครั้งในนัดถัดไป[14]

ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน และเครือข่ายซึ่งทำงานรณรงค์สิทธิมนุษยชน ร่วมกันจัดเสวนาบริเวณด้านหน้าอาคาร สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ในประเด็นผลกระทบของการบังคับใช้ประกาศและคำสั่งของคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่มีต่อประชาชน อันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่ม เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในที่ดินทำกิน ตลอดทั้งสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริการสาธารณะ โดยมีนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชาชนร่วมอภิปราย และนำเสนอร่างพระราชบัญญัติซึ่งกำลังเปิดให้ประชาชาร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่มีต่อประชาชนที่มีผลเป็นการละเมิดหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างน้อยจำนวน 35 ฉบับ ซึ่งรวมถึงคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ด้วย

(6) วันที่ 3 ก.ค. 61 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละมูลนิธินิติธรรมสิ่งเเวดล้อม ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เดินทางเข้าพบพนักงานอัยการตามนัดหมาย พนักงานอัยการแจ้งว่าอัยการสูงสุดยังไม่ได้ส่งความเห็นต่อหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ไม่สั่งฟ้องคดีของผู้ต้องหา จึงเลื่อนให้มาฟังคำสั่งอีกครั้งในนัดถัดไป

(7) วันที่ 7 ส.ค. 61 ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละมูลนิธินิติธรรมสิ่งเเวดล้อม ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ต้องหาทั้ง 8 คน ได้รับแจ้งจากพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบคดีว่า อธิบดีอัยการภาค 1 มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ และทางอัยการได้ส่งความเห็นถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และตำรวจก็มีความเห็นไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน

ตามเอกสารคำสั่งพนักงานอัยการ[15] ระบุว่าข้อเท็จจริงและความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีดังนี้

“…เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2561 สภ.คลองหลวง ได้รับหนังสือแจ้งการชุมนุมจากผู้ต้องหาที่ 1 คือนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ต่อมาทหารและตำรวจสืบสวนของสภ.คลองหลวง ได้ร่วมกันตรวจสอบและติดตามพฤติการณ์ของการชุมนุมดังกล่าว พบว่ามีการจำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องในทางการเมือง มีการเชิญชวนผู้มาร่วมกิจกรรมให้ช่วยกันซื้อเสื้อที่มีข้อความด้านหน้าเสื้อว่า “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” และชวนประชาชนร่วมลงชื่อ ยกเลิกคำสั่ง/ประกาศ คสช. ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าว มีลักษณะเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตามคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งไม่ให้มั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และต่อมาในวันที่ 20 ม.ค.2561 ผู้ต้องหาทั้ง 8 ซึ่งเป็นแกนนำชุมนุมและผู้ชุมนุมอีก 150 คน ได้จัดการชุมนุมปราศรัยเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย จึงมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งแปดเป็นคดีนี้

ทั้งนี้คำวินิจฉัยของพนักงานอัยการได้ให้เหตุผลที่มีคำสั่งไม่ฟ้องว่าการทำกิจกรรม ‘We walk เดินมิตรภาพ’ นี้ ว่า เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อีกทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ได้แจ้งการชุมนุมและวัตถุประสงค์ของการชุมนุมต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว โดยการชุมนุมไม่ได้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา…”

 

ในทางคดีจึงถือว่าคดีนี้สิ้นสุดจากคำสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการและพนักงานสอบสวน 

 

 

 

 

 

[1] https://tlhr2014.com/?p=5993

[2] https://tlhr2014.com/?p=6011

[3] https://tlhr2014.com/?p=5982

[4] https://tlhr2014.com/?p=6090

[5] https://tlhr2014.com/?p=6090

[6] https://tlhr2014.com/?p=6090

[7] https://tlhr2014.com/?p=7738

[8] https://tlhr2014.com/?p=6049

[9] https://tlhr2014.com/?p=6049

[10] https://tlhr2014.com/?p=6170

[11] https://tlhr2014.com/?p=6431

[12] https://tlhr2014.com/?p=6714

[13] https://tlhr2014.com/?p=7059

[14] https://tlhr2014.com/?p=7680

[15] https://tlhr2014.com/?p=8383

X