ผู้ชุมนุม “UN62” ยื่นศาลวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ถูกยกเลิกแล้ว

 

20 ส.ค. 2561 ศาลแขวงดุสิตนัดถามคำให้การคดีผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง UN62 จำเลยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาและขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิต นัดพร้อมเพื่อถามคำให้การจำเลย คดีผู้ชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และหน้าองค์การสหประชาชาติ จำนวน 38 ในกิจกรรมครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร คสช. เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 2561 หรือคดี “UN62” โดยศาลเริ่มออกนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดีเวลาประมาณ 11.30 น.

ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยทั้ง 38 คน ฟังก่อนแจ้งสิทธิของจำเลยและถามคำให้การ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ และยื่นคำให้การเป็นเอกสาร โดยจำเลยทั้งหมดยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และจำเลยมีทนายแล้ว เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปโดยไม่ล่าช้าจึงอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังตามคำร้อง

นอกจากนี้ จำเลยยังยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในข้อกฎหมายเรื่อง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งมีเนื้อหาควบคุมการชุมนุม ตามหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่าที่มีเนื้อหาอย่างเดียวกัน  ดังนั้น คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 จึงไม่มีสภาพบังคับใช้กับประชาชนแล้ว เนื่องจากถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 279

ด้านทีมทนายจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ ทนายความของนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ จำเลยที่ 2, นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ จำเลยที่ 10, นายวิรุฬห์ นันทภูษิตานนท์ จำเลยที่ 11, นายบริบูรณ์ เกียงวรางกูร จำเลยที่ 21, และ น.ส.วลี ญาณะหงษา จำเลยที่ 31 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งสำนวนคดีนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 44 หรือไม่ โดยมีใจความว่า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองว่า บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ  และได้กำหนดเงื่อนไขทางรูปแบบไว้ด้วยว่า การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยเมื่อเสรีภาพดังกล่าวถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอันมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ องค์กรของรัฐทุกระดับย่อมมีหน้าที่ต้องผูกพันโดยตรงต่อเสรีภาพดังกล่าว การใช้อำนาจไม่ว่าจะเป็นการตรากฎเกณฑ์ที่มีลักษณะนามธรรมและบังคับใช้กับบุคคลทั่วไป หรือออกคำสั่งที่มีลักษณะรูปธรรมและบังคับใช้เฉพาะกรณี  ก็จะต้องออกให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางรูปแบบของรัฐธรรมนูญและไม่ขัดหรือแย้งต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นก็จะถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

              เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 เป็นคำสั่งที่แทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขทางรูปแบบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขการจำกัดสิทธิและเสรีภาพนี้ไว้ว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” เท่านั้น  โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 44 ไม่ได้อนุญาตให้รัฐสามารถตรากฎหมายหรือออกคำสั่งใดเข้ามาควบคุมหรือห้ามการชุมนุมที่มีเนื้อหาบางประเภทได้  ฉะนั้นแล้วคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อเข้าแทรกแซง จำกัด และห้ามมิให้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งได้กระทำโดยบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการเฉพาะ จึงเป็นการจำกัดปิดกั้นเสรีภาพในการชุมนุมที่มีเนื้อหาบางประเภทเน้น “ห้ามชุมนุมทางการเมือง” ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะสามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมได้ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ผู้ต้องหาขอเรียนว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 26 กำหนดไว้ว่า“การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”

ด้านโจทก์แถลงว่า คดีนี้ตำรวจส่งสำนวนผู้กระทำความผิดมาให้อัยการจำนวน 40 คน แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คน คือนายชเนศ ชาญโลหะ อยู่ในระหว่างส่งสำนวนให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็น ส่วนผู้กระทำความผิดอีก 1 คน คือนายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล รอสำนวนคดีกลับมาแล้วจะมีการขออนุญาตอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ แต่พยานหลักฐานทั้งหมดเป็นชุดเดียวกันกับพยานในคดีนี้ จึงให้นัดฟังคำสั่งในส่วนของคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายและคำร้องที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และรอฟังผลการส่งสำนวนคืนของพนักงานอัยการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันที่ 30 ต.ค. 2561

 

 

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 38 คน ได้แก่ 1. น.ส.สุนันทรัตน์ มุกตรี, 2. นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์, 3. นายโชคดี ร่มพฤกษ์, 4. นางประนอม พูลทวี, 5. นายกรกช แสงเย็นพันธ์, 6. นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ, 7. นางพรวลัย ทวีธนวาณิชย์, 8. น.ส.จิดาภา ธนหัตถชัย, 9. นายสมชาย ธนะโชติ, 10. นางปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์, 11. นายวิรุฬห์ นันทภูษิตานนท์, 12. นางพรนิภา งามบาง, 13. นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา, 14. นายอนุศักดิ์ แสงเพชร, 15. น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์, 16. น.ส.วาสนา เคนหล้า, 17. นายอ๊อด แอ่งมูล, 18. นางสิริเรือง แก้วสมทรัพย์, 19. นางมาลี เมืองไหว, 20. น.ส.เกษณี ชื่นชม, 21. นายบริบูรณ์ เกียงวรางกูร, 22. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, 23. นายชญานิน คงสง, 24. นางสาวอลิสา บินดุสะ, 25. นายพรชัย ประทีปเทียนทอง, 26. นายหนึ่ง เกตุสกุล, 27. นางนภัสสร บุญรีย์, 28. น.ส.มัทนา อัจจิมา, 29. นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, 30. นายนันทพงศ์ ปานมาศ, 31. น.ส.วลี ญาณะหงษา, 32. นายมนัส แกล้ววิกย์กิจ, 33. นางยุภา แสงใส, 34. นายไพศาล จันปาน, 35. น.ส.วาสนา กองอุ่น, 36. นายศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, 37. นายวันชนะ จันทร์มณี, และ 38. นายสมนึก นาคพันธ์ ตามลำดับ ถูกฟ้อง 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 ไม่เลิกมั่วสุม เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ได้แก่ กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ราชการและสถานศึกษา ตามมาตรา 8 (1)(3), มีการชุมนุมระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุมฯ ตามมาตรา 11, ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้ชุมนุม ตามมาตรา 16 (1)(4)(7)(9) และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 19, ข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 และ 114 เรื่องการเดินขบวนและกระทำการใดๆ ในลักษณะกีดขวางการจราจร

อัยการยังได้บรรยายฟ้องถึงการชุมนุมเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. 61 ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีวัตถุประสงค์ปราศรัยแสดงความคิดเห็น ขับไล่และโจมตีการทำงานของรัฐบาลและ คสช. เรียกร้องให้กองทัพเลิกสนับสนุนและเลิกปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เรียกร้องให้ทหารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ทหารออกมายืนเคียงข้างกับผู้ชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลและคสช. ซึ่งเป็นการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนและข้าราชการทหารเกิดความกระด้างกระเดื่อง และอัยการได้บรรยายฟ้องโดยสรุปถึงเหตุการณ์ชุมนุมพร้อมระบุว่าจำเลยทั้ง 38 ไม่ได้รับอนุญาตให้ชุมนุมทางการเมืองจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีการเคลื่อนย้ายการชุมนุมก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม และทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ทำการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ และสถานศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กีดขวางการจราจาร และได้บังอาจร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยร่วมกันใช้รถยนต์ขับขี่เข้าชนแนวแผงเหล็ก ร่วมกันใช้มือยื้อยุดฉุดกระชากและผลักแนวแผงเหล็กได้รับความเสียหาย เจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้รับบาดเจ็บจำนวนหลายนาย และเมื่อเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะได้ออกคำสั่งให้เลิก จำเลยทั้ง 38 คนไม่ยอมเลิกการชุมนุม อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

นอกจากนี้ หนึ่งในจำเลยของคดีนี้ คือ น.ส.นีรนุช เนียมทรัพย์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกดำเนินคดีเนื่องจากไปปฏิบัติหน้าที่เก็บข้อมูลและสังเกตการณ์การชุมนุม ในฐานะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายฯ โดยในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ผู้ต้องหาได้มีการแขวนบัตรและสวมเสื้อเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เพื่อแสดงตัวตามปกติของการปฏิบัติงานแล้ว แต่ก็ยังมีการสั่งฟ้องจำเลยรายนี้ในที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องแล้ว! อัยการยื่นฟ้องคดี 38 ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 ศาลให้ปล่อยตัว-ไม่ใช้หลักทรัพย์

คสช.แจ้งความ “คนอยากเลือกตั้ง” มธ.+UN และผู้สังเกตการณ์ชุมนุมจากศูนย์ทนายฯ รวม 62 คน

ตร.แจ้งหลายข้อหา กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หลังแจ้งปล่อยตัวกลับหมด ไม่ส่งศาลขอฝากขัง

อัยการนัดสั่งฟ้องคดี ‘UN62’ 6 ก.ค.นี้ – ตร.ไม่ฟ้อง ผตห. 1 ราย เหตุไม่ได้ไปชุมนุม แต่ถูกทหารแจ้งความ

 

 

X