อัยการยืนยันคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เป็นชุมนุมการเมืองโดยไม่ขออนุญาต คสช. คดียังเดินหน้าต่อไป

วันนี้(28 ส.ค.2561) ชัยพงษ์ สำเนียงได้รับจดหมายแจ้งจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่าได้ยุติคำร้องขอความเป็นธรรมในคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” โดยให้เหตุผลว่ามีการติดป้ายในเวทีเสวนาที่มีการบรรยายแสดงสัญลักษณ์ต่อต้าน คสช. ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองและไม่ได้ขออนุญาต คสช.ก่อน

สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีจดหมายถึงชัยพงษ์ สำเนียง จำเลยในคดีที่ตนถูกกล่าวหาว่าชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ร่วมกับอีก 4 คน จากการชูสามนิ้วและถือป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในวันสุดท้ายของงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่

จดหมายระบุว่ารองอัยการสูงสุดซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดได้ทำการตรวจสอบและพิจารณาให้ยุติเรื่องขอความเป็นธรรมในคดีดังกล่าว หลังจากเมื่อวันที่ 22 มี.ค.2561 ชัยพงษ์ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้ยุติการดำเนินคดีนี้เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์สาธารณะและการดำเนินคดีครั้งนี้ยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ คดีนี้จึงยังดำเนินต่อไปในชั้นศาล

“เนื่องจากคดีที่ผู้ร้อง(ผู้ต้องหาที่ 4) ร้องขอความเป็นธรรมนี้มีหลักฐานว่าผู้ต้องหาทั้งห้าคนร่วมกันนำป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไปติดตั้งที่บริเวณทางเข้าสถานที่ประชุมที่จัดขึ้นโดยมีการเสวนาและบรรยายในเรื่องทางการเมืองในลักษณะต่อต้านรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มาจากรัฐประหาร ทั้งยังแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมืองโดยการชูสามนิ้ว จึงเป็นการมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งห้าคนและการเสวนาดังกล่าวได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” คือเหตุผลที่รองอัยการสูงสุดได้ระบุไว้ในจดหมายฉบับนี้

ขณะที่คดีนี้อัยการศาลแขวงเชียงใหม่ได้มีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว พวกเขาทั้งห้าคนได้ให้การปฏิเสธในชั้นศาลไปแล้ว ศาลจึงได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 กันยายนที่จะถึงนี้

จำเลยในคดีนี้ทั้ง 5 คนได้แก่ 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

จำเลยคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา นัดตรวจพยานหลักฐานต่อ 24 ก.ย.

เมื่อ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กำลังจะขึ้นสู่ศาล: ทบทวน 1 ปี คดีไทยศึกษาก่อนสั่งฟ้อง

ก่อนหน้าที่รองอัยการสูงสุดจะมีความเห็นในคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 อธิบดีอัยการภาค 1 มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีที่สมาชิกเครือข่าย People Go Network ทั้ง 8 คน ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จากการร่วมกันจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” โดยอธิบดีอัยการให้เหตุผลว่าการทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และไม่ได้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ‘We walk เดินมิตรภาพ’

ศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าทั้งสองกรณีนี้เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบสันติและปราศจากอาวุธเหมือนกันไม่ว่าการชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม สิทธิของบุคคลในคดีเหล่านี้ล้วนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 34 และมาตรา 44 บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ก็ได้บัญญัติรับรองไว้เช่นเดียวกัน

 

 

X