อุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น 1 ใน ‘MBK39’ จำคุก 12 วัน ปรับ 6 พัน

5 ก.ย. 61 เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 ชั้นสอง ศาลแขวงปทุมวัน เป็นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่นายนพเก้า คงสุวรรณ ถูกฟ้องร้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/58 โดยคดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาว่าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่ลานหน้าห้างสรรพสินค้า MBK และเป็นหนึ่งในผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่รู้จักกันในชื่อ “MBK39” โดยคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 12 วัน และปรับ 6,000 บาท ศาลเห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 วัน และปรับ 3,000 บาท ขณะที่โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี (อ่านเรื่องนี้ต่อที่ ศาลพิพากษา 2 จำเลย MBK39 จำคุก 12 วัน ปรับ 6พันบ. สารภาพลดกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี)

สำหรับการอุทธรณ์ในวันนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่งจำเลย กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้อที่ 12 แต่ไม่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีสถานะเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเชิญชวนให้ผู้อื่นมาชุมนุม กรณีนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ประเด็นที่สอง จำเลยขอให้ลดโทษเหลือเพียงรอการกำหนดโทษหรือปรับเพียงสถานเดียวนั้น ศาลอุทธรณ์ยืนยันตามคำพิพากษาชั้นต้น โดยไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข

สำหรับคดี ‘MBK39’ มีผู้ต้องหา 39 คน แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำซึ่งถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ร่วมกับข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 9 คน และกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 30 คน โดยมี 2 คนที่คดีพิพากษาแล้ว เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ได้แก่ นพพร นามเชียงใต้ และกรณีของนพเก้า คงสุวรรณ ที่เป็นนัดฟังคำพากษาอุทธรณ์ในวันนี้

 

 

X