นัดถามคำให้การคดีประชามติบางเสาธง ศาลทหารพยายามไม่บันทึกคำแถลงของจำเลย

13 ก.ย. 2561 ศาลทหารกรุงเทพนัดถามคำให้การคดีประชามติบางเสาธง 2 คดี คือคดีที่ ‘โรม’ รังสิมันต์ โรม เป็นจำเลย และอีกคดีมีจำเลย 6 คน จำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลเตรียมสั่งรวมทุกคดีเป็นคดีเดียวกัน

เวลา 10.00 น. ศาลทหารกรุงเทพนัดสอบให้การ 2 คดี จากการแจกแผ่นพับ ใบปลิว และเอกสารความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรณรงค์ประชามติ ที่ตลาดการเคหะบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 ได้แก่

  1. คดีที่อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายรังสิมันต์ โรม ในคดีฝ่ายฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม รวมทั้งแจ้งข้อหาไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25
  2. คดีที่อัยการศาลทหารเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยุทธนา ดาศรี, นายธีรยุทธ นาขนานรำ, นายอนันต์ โลเกตุ, นายสมสกุล ทองสุกใส, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, และนายนันทพงศ์ ปานมาศ ในข้อหาเดียวกันกับนายรังสิมันต์ โรม

กระบวนการถามคำให้การ

ในคดีที่นายรังสิมันต์ โรม เป็นจำเลย ศาลอ่านฟ้องและถามคำให้การ จำเลยให้การปฏิเสธโดยแถลงคำให้การต่อศาลใน 2 ประเด็นคือ

1.ศาลไม่สามารถเป็นกลางได้ เนื่องจากศาลทหารเป็นตัวแทนสถาบันกองทัพซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงต่อจำเลย

2. ศาลทหารไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากกฎหมายและศาลมีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารที่มีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113

ศาลจะไม่บันทึกคำแถลงดังกล่าวโดยเห็นว่า การอ้างเหตุปฏิเสธข้อกล่าวหาควรจะเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริง แต่การขอให้บันทึกคำแถลงนี้ เป็นการปฏิเสธข้อกฎหมาย รวมถึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาล ให้จำเลยทำหนังสือคำร้องยื่นเป็นลายลักษณ์อักษรมาแทน

“คำปฏิเสธนี้จะมีผลต่อคดีของผม ขอให้ศาลบันทึกคำแถลงนี้ลงในบันทึกคำให้การ” โรมแถลงตอบโต้การไม่บันทึกคำแถลงของศาล

หลังการถกเถียงดำเนินไปประมาณ 30 นาที ศาลและจำเลยจึงตกลงว่า จะให้ศาลบันทึกคำแถลงของจำเลยเป็นข้อความสั้น ๆ ว่า “จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทุกข้อกล่าวหา ขอต่อสู้คดีเนื่องจากเห็นว่ากฎหมายและคำสั่งต่างๆ ที่โจทก์อ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดและโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าจำเลยเป็นบุคคลพลเรือนไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลทหาร” และขอให้ทนายยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ขณะที่อีกคดี จำเลยทั้ง 6 ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน

ศาลสั่งรวมคดี

นอกจากนี้ ทั้งสองคดี ศาลได้ปรึกษาคู่ความทั้งฝ่ายอัยการทหารและจำเลยแล้ว เห็นว่าทั้งสองคดีนี้ และอีกคดีที่ฟ้องตั้งแต่ปี 2559 และถามคำให้การไปก่อนหน้านี้แล้ว มีผู้ร่วมกระทำความผิดร่วมกัน พยานหลักฐานของทั้งสามคดีเป็นชุดเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว จึงมีคำสั่งให้รวมคดีทั้งสองร่วมกันทั้งหมด แต่ต้องรอความเห็นชอบจากศาลเจ้าของสำนวนคดีที่ฟ้องเมื่อปี 2559 มีคำสั่งรวมคดีก่อน

หนึ่งในตัวอย่างใบปลิวที่ใช้ในการรณรงค์

ความเป็นมาของคดี

คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 จำเลยรวม 13 คน ได้แจกแผ่นพับ ใบปลิว และเอกสารให้ความรู้เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้ลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมบริเวณพื้นที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ จนถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บางเสาธง อ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ควบคุมตัวไป

ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ได้ประชุมวางแผนปฏิบัติการ ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. ได้ออกตรวจบริเวณหลังตลาดสด พบนายรังสิมันต์กับพวกกำลังขนเอกสาร 1.ใบปลิวขนาดใหญ่โนโหวตหรือโหวตโน 2.หนังสือชื่อเรื่องความเห็นแย้งและคำอธิบายสาระสำคัญรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องน่ารู้ 3.ใบปลิวขนาดใหญ่ชื่อ ก้าวข้าม โดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 4.เอกสารแนะนำวิธีการยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตจังหวัด พร้อมทั้งใช้เครื่องเสียงประกาศประชาสัมพันธ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เจรจายุติแต่ผู้ต้องหากับพวกยังยืนยันจะดำเนินการต่อไป และแจ้งว่าจะแจกแต่เอกสารที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ กกต. แจกเพื่อประชาสัมพันธ์ในการไปร่วมลงประชามติ เอกสารลำดับที่ 4 เท่านั้น แต่กลับแจกเอกสาร รายการที่ 1-3 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นเอกสารที่รณรงค์ต่อต้านประชามติ

ร.ต.ท.วิทูรย์ เพ็งบุปผา พนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง จึงแจ้งข้อกล่าวหา มีพฤติการณ์เป็นลักษณะชักจูงประชาชนทางการเมือง และเข้ามั่วสุมชุมนุมทางเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดเอกสารที่มีการแจกจ่าย และโทรโข่งเป็นของกลาง

ผู้ต้องหาที่จะขอยื่นประกันตัวทั้งหมด 5 คน ได้ทยอยพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำประวัติ และถูกสอบปากคำโดยพนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง แต่มีผู้ต้องหาอีก 8 คน ที่ประสงค์จะไม่ยื่นขอประกันตัว และปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือ เพราะยืนยันว่า สิ่งที่กระทำลงไปนั้นไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุต้องขอประกันตัวหรือต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแต่อย่างใด

สำหรับรายชื่อผู้ประกันตัวไม่ขอยื่นประกันตัวและปฏิเสธพิมพ์ลายนิ้วมือ ได้แก่ 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร 7.นันทพงศ์ ปานมาศ 8.รังสิมันต์ โรม

อย่างไรก็ตาม มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในชั้นตำรวจ ต่อจากนั้นพนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพสั่งฝากขัง แม้ทนายความจะคัดค้านการฝากขังแต่ศาลทหารสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

หลังจากนั้นผู้ต้องหา 6 รายได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาล ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.ปีใหม่ รัฐวงษา 4.เตือนใจ แวงคำ 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 รายยืนยันไม่ยื่นประกันตัว ได้แก่ 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทำให้ถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว ในอีก 12 วันหลังจากนั้น เนื่องจากศาลทหารไม่อนุญาตฝากขังครั้งที่ 2

X