เขาและเธอยังถูกจองจำ: จำเลยคดี 112 อีกอย่างน้อย 9 ราย ยังต่อสู้คดี โดยไม่ได้ประกันตัว

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 61 ที่ผ่านมา ศาลทหารกรุงเทพให้ประกันตัว ณัฎฐธิดา “แหวน”  มีวังปลา อดีตพยาบาลอาสา และพยานปากสำคัญคดีสังหาร 6 ศพวัดปทุมวนาราม ในคดีปาระเบิดศาลอาญา และคดีมาตรา 112 หลังถูกคุมขังมากว่า 3 ปี 5 เดือน และต้องต่อสู้คดีที่ดำเนินไปอย่างล่าช้าในศาลทหาร โดยแยกเป็นการให้ประกันตัวในคดีปาระเบิดศาลอาญาด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 4 แสนบาท

ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือ “แหวน” (ภาพโดย Banrasdr Photo)

นับเป็นจำเลยอีกรายหนึ่งที่เพิ่งได้รับสิทธิในการประกันตัว หลังถูกคุมขังในชั้นสอบสวนและระหว่างการพิจารณาของศาลอย่างเนิ่นนาน แม้จำนวนผู้ต้องขังมาตรา 112 จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกมีแนวโน้มจะลดลงในช่วงปัจจุบัน แต่ก็ไม่ใช่เป็นเช่นนั้นเสียทั้งหมด เมื่อยังมีผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวมาจนถึงปัจจุบัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังมีผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ต่อสู้คดี และยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อีกอย่างน้อย 9 ราย (ไม่รวมกรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งกลุ่มจำเลยไม่ได้ต่อสู้คดี)

บางรายได้เคยขอยื่นประกันตัวมาแล้วหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต โดยเหตุผลหลักเป็นเรื่องคดีมีความร้ายแรง เกรงว่าผู้ต้องหา/จำเลยจะหลบหนี แต่บางรายก็ไม่สามารถยื่นขอประกันตัวได้ เนื่องจากปัญหาวงเงินประกันตัวค่อนข้างสูง อย่างน้อย 3-4 แสนบาทต่อรายขึ้นไป ทำให้ผู้ต้องหาในหลายคดี ซึ่งไม่มีฐานะทางการเงิน ไม่ได้มีหลักทรัพย์เพื่อนำมาใช้ในการยื่นขอประกันตัวได้ แม้ศาลอาจจะให้ประกันตัวก็ตาม

ในกรณีของ “แหวน” ณัฏฐธิดา เอง ที่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวสองคดีรวมกัน 9 แสนบาท ทางสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) และกลุ่มนักกิจกรรม ก็ต้องใช้หนทางการระดมทุนผ่านกองทุนการประกันตัวเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือน เพื่อให้ได้หลักทรัพย์ตามเป้าหมาย

จำเลยที่ไม่ได้ประกันตัวหลายคดียังต้องต่อสู้คดีในศาลทหาร ซึ่งการสืบพยานเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากระบบนัดคดีของศาลทหารที่แตกต่างจากศาลพลเรือน โดยนัด 2-3 เดือนต่อหนึ่งนัด ทำให้คดีใช้เวลาหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ ระบบลักษณะนี้ยังทำให้จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ไม่ได้รับการประกันตัวหลายรายก่อนหน้านี้ ตัดสินใจกลับคำให้การ โดยยินยอมรับสารภาพมาแล้ว

ต่อไปนี้ เป็นผู้ต้องขังที่ยังต่อสู้คดีอยู่ แต่ถูก “ขังลืม” อยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน

 

“สิรภพ” กวีการเมือง สู้คดี 112 ในศาลทหารกว่า 4 ปีแล้ว

ถึงวันนี้ สิรภพ (สงวนนามสกุล) หรือ ‘รุ่งศิลา’ ถูกคุมขังในเรือนจำมากว่า 4 ปี 2 เดือนแล้ว

สิรภพ อายุ 55 ปี มีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง แต่อีกหมวกหนึ่งอยู่ในฐานะนักเขียนและกวีการเมือง เขาเขียนบทความและบทกวีโดยเฉพาะแนววิพากษ์วิจารณ์การเมืองเผยแพร่ในโลกออนไลน์หลายแห่งหลายที่ และเขาก็ถูกคุมขังจากเหตุเรื่องการเขียนบทกลอนและเผยแพร่บทความในเว็บไซต์ รวมจำนวน 3 ข้อความ เขาถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยข้อความหนึ่งเผยแพร่ลงในเว็บบอร์ดประชาไทตั้งแต่ปี 2552 และอีกสองข้อความเผยแพร่ในเว็บบล็อกและเฟซบุ๊กส่วนตัวในปี 2556 และ 2557

หลังรัฐประหาร เขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 57 ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมตัวในค่ายทหารที่ขอนแก่นและกรุงเทพฯ จนครบ 7 วัน หลังจากนั้นถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. และข้อหาตามมาตรา 112-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนถูกส่งตัวไปฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 57 ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา

ก่อนหน้านี้ ครอบครัวของนายสิรภพได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลทหารมาแล้ว 6 ครั้ง แต่ศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัวทุกครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. 61 ที่ผ่านมา ญาติยื่นหลักทรัพย์ 500,000 บาท ในการขอประกันตัว แต่ศาลยังคงไม่อนุญาต

ตั้งแต่อัยการทหารได้มีการสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 57 และสิรภพยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา คดีสามารถสืบพยานไปได้เพียง 3 ปาก จาก 13 ปาก โดยศาลทหารยังสั่งให้พิจารณาเป็นการลับในคดีนี้

จากความล่าช้าในกระบวนการสืบพยาน ทำให้คดียังต้องใช้ระยะเวลาอีกเป็นปีๆ กว่าศาลทหารจะมีคำพิพากษา

ดูเพิ่มเติมเรื่องราวในคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ไม่ไปรายงานตัวของสิรภพ สำนึกของสิรภพ ประชาชนผู้ขัดขืนอำนาจของคณะรัฐประหาร

 

“อัญชัญ” กับการต่อสู้คดีที่ถูกกล่าวหาถึง 29 กรรม

เธอเป็นผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ด้วยจำนวนกรรมมากที่สุดเท่าที่มีการรายงานข่าวกันมา

นางอัญชัญ (สงวนนามสกุล) ปัจจุบันอายุ 60 ปี เป็นอดีตข้าราชการของกรมสรรพากร ก่อนถูกจับกุมเธอกำลังจะเกษียณอายุราชการหลังจากทำงานมานานกว่า 30 ปี นอกจากนั้นยังทำอาชีพขายตรงสินค้าสมุนไพรต่างๆ  อัญชัญมีโรคประจำตัวเป็นความดัน และเบาหวาน ทำให้ต้องรับประทานยาเป็นประจำ

เธอถูกทหารบุกจับกุมที่บ้านพักเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 58 ถูกนำตัวไปในค่ายทหาร 5 วัน ก่อนถูกกล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีการอัพโหลดคลิปเสียงของ “บรรพต” ลงบนเว็บไซต์ยูทูบ และในเฟซบุ๊ก โดยเธอถูกฟ้องร้องจากคลิปเสียงที่มีข้อความมากถึง 29 กรรม ในช่วงระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 57 ถึง 24 ม.ค. 58

อัญชัญถูกฝากขังและจองจำในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. 58 ญาติเคยยื่นขอประกัน แต่ศาลทหารไม่อนุญาต ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ปี 60 ด้วยหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินมูลค่า 1,000,000 บาท แต่ศาลทหารไม่อนุญาต โดยอ้างเหตุผลว่าคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ทำให้เธอยังคงถูกคุมขังอยู่จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่คดีในศาลทหารกรุงเทพของอัญชัญก็ดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากเธอตัดสินใจต่อสู้คดี โดยตั้งแต่อัยการทหารสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 58 ถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 3 ปีครึ่ง คดีสืบพยานโจทก์ไปได้ 7 ปาก จากพยานโจทก์ทั้งหมด 11 ปาก และยังมีพยานจำเลยที่ยังไม่ได้สืบอีก 2 ปาก

น่าสังเกตว่าอัญชัญ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ต้องหา/จำเลย จำนวน 14 ราย ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการจัดทำและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” โดยแต่ละรายถูกฟ้องแยกเป็นคนละคดีกัน ด้วยจำนวนกรรมที่ไม่เท่ากัน มีอัญชัญที่ถูกฟ้องร้องด้วยจำนวนกรรมมากที่สุด คือ 29 กรรม และธาราถูกฟ้อง 6 กรรม ในกรณีธารานี้ แม้เริ่มแรกจะตัดสินใจต่อสู้คดี แต่ในที่สุดจำเลยก็ตัดสินใจกลับคำให้การ เป็นรับสารภาพในที่สุด เนื่องจากการพิจารณาคดีในศาลทหารเป็นไปอย่างล่าช้า เขาถูกศาลลงโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน และยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

ขณะที่คดีของคนอื่นๆ ในเครือข่ายบรรพต ถูกฟ้องเพียง 1 กรรม รวมทั้งตัวบรรพตเองซึ่งเป็นผู้กล่าวคลิปเสียงต่างๆ ที่ทำให้คนอื่นๆ ถูกกล่าวหา ทั้งหมดให้การรับสารภาพ และถูกศาลทหารพิพากษาลงโทษระหว่าง 3-5 ปี เกือบทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำแล้ว เนื่องจากได้รับการลดหย่อนโทษในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง ช่วงปี 2559

คดีของอัญชัญ ก็เช่นเดียวกับสิรภพ คือศาลทหารมีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ บุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าสังเกตการณ์ในคดีได้ ทำให้คดียิ่งดำเนินไปอย่างเงียบๆ เช่นกัน

 

สุริยศักดิ์ อดีต นปช.สุรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาส่งข้อความผ่านไลน์

สุริยศักดิ์ อายุ 50 ปี เป็นอดีตแกนนำกลุ่ม นปช. ในจังหวัดสุรินทร์ และประกอบอาชีพเปิดร้านขายของอยู่ในจังหวัดสุรินทร์

สุริยศักดิ์เป็นหนึ่งใน 9 บุคคล ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัวในช่วงเดือน มี.ค. 2560 การแถลงข่าวหลังจับกุมอ้างว่าบุคคลกลุ่มนี้เป็นเครือข่ายของนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ “โกตี๋” พร้อมกับตรวจค้นพบอาวุธปืนและยุทธภัณฑ์ต่างๆ จากหลายจุด ต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีการกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมดในคดีก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553

ตัวสุริยศักดิ์เอง ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 15 นาย จากบ้านพักในจังหวัดสุรินทร์ และมีการนำตัวไปควบคุมในค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 ต่อมา นอกจากถูกกล่าวหาในคดีก่อการร้าย  สุริยศักดิ์ยังได้ถูกทาง ปอท. กล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นอีกคดีหนึ่งด้วย โดยกล่าวหาว่าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 เขาได้มีพฤติการณ์ส่งข้อความถึงสมาชิกในกลุ่มไลน์คนหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเจ้าหน้าที่ทหารได้ตรวจพบ

ในกรณี “เครือข่ายโกตี๋” นี้ ผู้ต้องหาคนอื่นที่ไม่ได้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ต่อมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปหลังถูกขังครบ 84 วัน แต่อัยการยังสรุปสำนวนส่งฟ้องไม่ทัน มีเพียงสุริยศักดิ์ที่ถูกอายัดตัวฝากขังต่อในคดีมาตรา 112 (คล้ายคลึงกับกรณีของแหวน) และถูกส่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพ  โดยจำเลยเคยขอประกันตัวรวม 3 ครั้ง ทั้งในชั้นสอบสวนและพิจารณา แต่ศาลทหารไม่อนุญาต แม้จะวางหลักทรัพย์มูลค่าถึง 8 แสนบาท ก็ตาม

ถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลากว่า 1 ปี 5 เดือนแล้ว ที่เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ สุริยศักดิ์ยังยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มต้นการสืบพยานในศาลทหารแต่อย่างใด

 

6 จำเลย ในคดีอ้างว่าเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for dad

จ.ส.ต.ประธิน และณัฐพล ถูกจับกุมจากบ้านพักในขอนแก่นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ทางฝ่าย คสช. และเจ้าหน้าที่ทหาร กล่าวอ้างในช่วงแรกว่าเป็นการจับกุมกลุ่มบุคคลที่เตรียมจะก่อความวุ่นวายในกิจกรรม Bike for Dad ซึ่งมีกำหนดจัดในช่วงนั้น

ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพได้อนุมัติออกหมายจับบุคคลรวม 9 ราย ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้ถูกออกหมายจับอีก 7 คน ถูกจับกุมในเวลาต่อมา 2 คน เข้ามอบตัว 2 คน ถูกจำคุกในคดีอื่นอยู่แล้ว 1 คน ส่วนอีก 2 คน ยังหลบหนี  ทั้ง 6 คน ที่เจ้าหน้าที่ได้ตัวมา ถูกคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครชัยศรี ซึ่งอยู่ใน มทบ.11 ระหว่างนี้ 1 ใน 6 คน ได้ถูกปล่อยตัวไป

จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อัยการทหารได้ยื่นฟ้องกรณีนี้แยกเป็น 2 คดี ได้แก่

  • คดีของ จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 5 คน (วีระชัย, วัลลภ, พาหิรัณ และธนกฤต) ในความผิดตามมาตรา 112 มีการยื่นฟ้องที่ศาล มทบ.23 จ.ขอนแก่น โดยกล่าวหาว่าระหว่างเดือน ส.ค. 57 ถึงวันที่ 24 ก.พ. 58 จำเลยทั้งห้ากับพวกที่หลบหนี ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันสนทนาข้อความที่หมิ่นพระมหากษัตริย์ และรัชทายาท จำนวน 3 ข้อความ ต่อหน้าบุคคลผู้มีชื่อ จำนวน 2 คน
  • คดีของ จ.ส.ต.ประธิน และพวกรวม 2 คน (ณัฐพล) ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มีการยื่นฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ แต่ต่อมามีการโอนคดีมาที่ศาล มทบ.23 โดยกล่าวหาจำเลยในสองกรรม จากการส่งข้อความทางไลน์หากัน เป็นข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 และจากการที่ จ.ส.ต.ประธินจดบันทึกลงในสมุดมีข้อความเข้าข่ายมาตรา 112

ทำให้รวมแล้วกรณีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดี 6 คน โดย จ.ส.ต.ประธิน เป็นคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีถึงสองคดี

ทั้งหมดถูกย้ายมาคุมขังที่เรือนจำขอนแก่นจนถึงปัจจุบัน ในจำนวนนี้มี 3 ราย รวมทั้ง จ.ส.ต.ประธินเอง ที่เป็นจำเลยในคดีขอนแก่นโมเดลอยู่ก่อนแล้ว และต่างได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้ แต่ในคดีมาตรา 112 ของทั้ง 6 คน กลับไม่ได้รับการประกันตัว โดยจำเลยบางรายที่พอมีหลักทรัพย์ ได้เคยยื่นขอประกันตัวมาแล้ว 3 ครั้ง แต่ศาลทหารก็ยังไม่อนุญาต แม้แต่การยื่นประกันหลังการสืบพยานโจทก์ซึ่งเป็นประจักษ์พยานคนเดียวในคดี และให้การว่าไม่ได้รู้เห็นว่าจำเลยกระทำผิดตามโจทก์ฟ้อง อีกทั้งโจทก์ก็ไม่คัดค้านการประกันตัว  อย่างไรก็ตาม ทั้งหกคนยังเลือกจะต่อสู้คดี ทำให้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานเป็นการลับในศาลทหารขอนแก่น

คดีนี้ยังมีข้อกังขาในแง่ที่ว่า ในการแถลงข่าวการจับกุมและออกหมายจับมีการระบุถึงการเตรียมก่อเหตุรุนแรงในกิจกรรม Bike for Dad  แต่จำเลยทั้งหมดกลับถูกฟ้องในความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งล้วนไม่เกี่ยวข้องกับ Bike for Dad ตามที่มีการแถลงข่าวแต่อย่างใด โดยพฤติการณ์ตามคำฟ้องของอัยการทหารเป็นเรื่องการพูดคุยกันในเรือนจำ การส่งไลน์ส่วนตัว และการเขียนในสมุดบันทึกส่วนตัว

จนถึงปัจจุบันทั้งหมดถูกคุมขังมากว่า 2 ปี 10 เดือนแล้ว

 

คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ  

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ แม้ไม่ได้เป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่ต่อสู้คดี แต่ก็เป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่คดียังดำเนินอยู่ โดยจำเลยถูกคุมขังในเรือนจำเรื่อยมา ได้แก่ กรณีที่จำเลยรวมทั้งสิ้น 11 ราย ถูกกล่าวหาเรื่องการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติในจังหวัดขอนแก่นหลายจุด เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2560

เริ่มแรกมีการจับกุมวัยรุ่น เด็กอายุ 14 ปี และผู้ใหญ่ ควบคุมตัวในค่ายทหาร (มทบ.11) 6 วัน แล้วส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีรวม 9 ราย โดยอัยการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดพล 8 ราย แยกเป็น 3 คดี จากการก่อเหตุในแต่ละจุด ในข้อหาทั้งอั้งยี่, ซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ทำให้เสียทรัพย์, และความผิดตามมาตรา 112 และแยกฟ้องในศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ขอนแก่น 1 ราย ในข้อหาเดียวกัน

ในช่วงต้นของการพิจารณาคดี จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ และให้การปฏิเสธในข้อหาอื่นๆ โดยในข้อหามาตรา 112 จำเลยยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีเจตนา ในเวลาต่อมาจำเลยทั้งหมดให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ทำให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกด้วยอัตราโทษต่างๆ กัน

ต่อมา จำเลยวัยรุ่น 6 คน ตัดสินใจอุทธรณ์ใน 2 คดี โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 61 ทนายความได้ยื่นขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร หรือให้จำเลยเสียค่าปรับ หรือทำงานบริการสังคม

ปัจจุบันคดีจึงอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาอุทธรณ์ โดยกลุ่มจำเลยไม่ได้มีหลักทรัพย์ในการยื่นขอประกันตัว ทำให้ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี

ต่อมาคดีนี้ ยังมีการจับกุมจำเลยอีก 2 ราย คือ นายปรีชา และนายสาโรจน์ ในข้อหาเช่นเดียวกัน และแยกฟ้องรวม 3 คดี ทั้งสองคนให้การรับสารภาพศาลพิพากษาจำคุกทั้งสองคนละ 12 ปี 6 เดือน โดยยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งแตกต่างจากจำเลย 9 รายก่อนหน้านี้ ซึ่งลงโทษในข้อหา 112 ด้วย คดีของจำเลยสองรายหลังยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาของการอุทธรณ์อยู่ โดยทั้งสองคนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเช่นกัน

ดูคดีนี้เพิ่มเติมใน จำคุก 2 จำเลยเผาซุ้ม 3 คดี รวม 12 ปีครึ่ง ยกฟ้องข้อหา 112

 

ผู้ต้องขังคดี 112 ที่คดีสิ้นสุดแล้ว อีกหลายคนก็ยังคงถูกจองจำ

ขณะเดียวกัน นอกจากกลุ่มผู้ต้องขังที่คดียังดำเนินอยู่เหล่านี้ ผู้ถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 อีกหลายราย ที่คดีสิ้นสุดลงแล้ว ก็ยังคงถูกคุมขังอยู่เช่นกัน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีกลุ่มผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังหลังคดีสิ้นสุดแล้ว จำนวนอีกอย่างน้อย 18 คน (นับเฉพาะผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้รวมถึงกรณีมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง หรือหาประโยชน์ส่วนบุคคล)

ผู้ต้องขังหลายคนถูกลงโทษในอัตราที่รุนแรง เนื่องจากถูกฟ้องด้วยจำนวนกรรมจำนวนมาก ทำให้ยังคงถูกคุมขังมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กรณีของวิชัย ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจากข้อความ 10 กรรม กรรมละ 7 ปี รวมลงโทษจำคุก 70 ปี และลดโทษให้ครึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพเหลือโทษจำคุก 30 ปี 60 เดือน คดีนี้เป็นคดีที่ถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเท่าที่เคยติดตามได้

กรณีของพงษ์ศักดิ์ ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก จากข้อความ 6 ข้อความ ข้อความละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 60 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 30 ปี

กรณีของศศิพิมล ถูกศาลทหารเชียงใหม่พิพากษาลงโทษจำคุก จากข้อความ 7 ข้อความ ข้อความละ 8 ปี รวมโทษจำคุก 56 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 28 ปี

กรณีของเธียรสุธรรม ถูกศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุก จากข้อความ 5 ข้อความ ข้อความละ 10 ปี รวมโทษจำคุก 50 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 25 ปี

รวมทั้งกรณีของนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวที่พอเป็นที่รู้จัก อย่างกรณีของ “ไผ่ ดาวดิน” นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จากกรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 แม้จะตัดสินใจต่อสู้คดี แต่หลังสืบพยานไปได้สองวัน จตุภัทร์กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 5 ปี ลดเหลือ 2 ปี 6 เดือน ถึงปัจจุบันเขาเหลือโทษจำคุกอีกราว 9 เดือน

หรือกรณีของธานัท หรือ “ทอม ดันดี” นักกิจกรรมเสื้อแดง ซึ่งถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ถึง 4 คดี แม้สองคดีใหม่ในปีนี้ ศาลจะยกฟ้อง แต่ทอมก็ยังต้องถูกคุมขังจากโทษในสองคดีแรก ซึ่งเขารับสารภาพไปก่อนหน้านี้ และถูกศาลพิพากษาจำคุกสองคดีรวมกัน เป็นเวลา 10 ปี 10 เดือน

แม้ปัจจุบันแนวโน้มเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายๆ ด้านก็ตาม แต่การจองจำ “นักโทษทางความคิด” ก็ยังไม่ได้หมดสิ้นลง พวกเขาและเธออีกหลายคนยังถูกคุมขังในเรือนจำ

 

 

X