บันทึกถ้อยแถลงจากห้องพิจารณาฝากขังผัด2ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ถอดความจากบันทึกสังเกตการณ์การไต่สวนคำร้องฝากขัง 13 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่รณรงค์ประชามติ คดีหมายเลขดำที่ ฝพ.21/2559 ผัดที่สองเมื่อวันที่ 5กรกฎาคม 2559 ศาลทหารกรุงเทพ

5ก.ค.2559 เวลา8.30 น. เรือนจำพิเศษกรุงเทพนำตัวผู้ต้องหา 7 คน ได้แก่ ได้แก่ รังสิมันต์ โรม กรกช แสงเย็นพันธ์ อนันต์ โลเกตุ ธีรยุทธ นาขนานรำ ยุทธนา ดาศรี สมสกุล ทองสุกใส และนันทพงศ์ ปานมาศ คดีแจกใบปลิวรณรงค์ประชามติที่สมุทรปราการเมื่อวันที่23มิ.ย.2559 มาที่ศาลทหารกรุงเทพหลังครบกำหนดฝากขังครั้งแรก 12วัน เวลาประมาณ 13.50 น. ศาลขึ้นบัลลังก์ ร.ต.อ.วิฑูรย์ เพ็งบุบผา พนักงานสอบสวนจาก สน.บางเสาธง ยื่นคำร้องขอฝากขังผัดที่สองเป็นเวลา 12 วัน โดยอ้างเหตุว่ากระบวนการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของผู้ต้องหาที่ 1 ขออนุญาตถามพนักงานสอบสวน และขอให้พนักงานสอบสวนสาบานตัวก่อนการซักถาม ทนายความถามว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานที่เป็นที่ยังหาไม่พบอีกเยอะหรือไม่ ร.อ.วิฑูรย์ตอบว่าไม่มีแล้ว ส่วนของกลางในคดีนี้ยึดไว้ที่สถานีตำรวจหมดแล้ว ในส่วนการสอบสวนพยานตอนนี้เสร็จสิ้นแล้วและได้สรุปสำนวนการสอบสวนทำความเห็นแล้ว ขณะนี้สำนวนอยู่ระหว่างเสนอผู้บังคับบัญชาทำความเห็น แต่ผู้บังคับบัญชาอาจจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก็ได้ แต่ในส่วนของตนเองนั้นไม่ต้องมีการสอบเพิ่มแล้ว

ทนายความถามว่า เพราะฉะนั้นผู้ต้องหาก็ไม่รบกวนการสอบสวนได้ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ตอบว่าใช่ เมื่อทนายความถามว่า ไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาไว้แล้วใช่หรือไม่ ร.อ.วิฑูรย์ตอบว่า ถ้าสำนวนยังไม่ถึงอัยการก็ต้องขอควบคุมตัวไว้ก่อน เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนต้องเอาตัวผู้ต้องหามาส่งให้อัยการด้วย กรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวไว้เลยก็จะให้มาตามคำสั่งได้ยาก

ทนายความถามว่า การจะให้ผู้ต้องหามาก็ต้องออกหมายเรียกและหมายจับ สามารถทำได้ใช่หรือไม่ ร.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ทำได้แต่ไม่สะดวกต่อการดำเนินการ ทนายความถามว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้ไม่เคยมีประวัติมีคำพิพากษาให้จำคุกใช่หรือไม่ ร.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า คนที่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือได้ตรวจประวัติแล้วไม่พบแต่คนที่ไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือตรวจประวัติไม่ได้

ภายหลังการซักถามของทนายความรังสิมันต์ โรม ผู้ต้องหาที่ 1 ขอถามพนักงานสอบสวนต่อว่า

โรม : อิสรภาพของพวกผมเป็นปัญหาต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมหรือไม่

ร.ต.อ.วิฑูรย์ : ในเรื่องของการรวบรวมพยานหลักฐานไม่สามารถยึดโยงได้ว่าเป็นอุปสรรคหรือไม่ แต่มีความจำเป็นบางเรื่องตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ปกติเรามีกระบวนการบังคับด้วยสัญญาประกันตัวแต่ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดไม่มีอะไรเป็นเครื่องบังคับ

ทุกคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เราทุกคนต่างอยู่ในหน้าที่ของแต่ละคน ก่อนจะทำอะไรทุกคนต้องมองไปข้างหน้าและย่อมเห็นผลลัพธ์ของการกระทำและต้องรับผิดชอบในกระบวนการของตัวเอง ผมเป็นพนักงานสอบสวนก็ต้องทำตามกฏหมาย

รังสิมันต์ : ทั้งหกคนที่ได้ประกันตัวได้ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่

ร.ต.อ.วิฑูรย์ : ไม่ได้มาติดต่อหรือเกี่ยวข้องอะไรกับตน

รังสิมันต์ : การที่ผู้ต้องหามีอิสรภาพจะกระทบกับกระบวนการอย่างไร แต่ศาลบอกว่าประเด็นนี้ได้ถามไปแล้วไม่จำเป็นต้องถามอีก

ร.ต.อ.วิฑูรย์ : ที่ผ่านมาได้เร่งดำเนินการเต็มที่ให้แล้วเสร็จภายในผัดเดียว คดีนี้เข้าใจดีอยู่แล้ว ทุกคนก็รุ่นๆ ลูกทั้งนั้น

เมื่อรังสิมันต์ซักถามพนักงานสอบสวนเสร็จจึงแถลงต่อศาลว่า

1.ผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนขอยืนยันว่าพวกตนเป็นพลเรือน ศาลทหารไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีของพลเรือน ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ออกโดยอาศัยอำนาจกฎอัยการศึกซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาใช้เพื่อให้พลเรือนขึ้นศาลทหารได้

2. การจับกุมผู้ต้องหาทั้งเจ็ดคนเกิดขึ้นทั้งที่ในชั้นต้นเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ทำกิจกรรมได้ สิ่งที่พวกเราทำจึงไม่เป็นความผิด ตอนที่ถูกจับเจ้าหน้าที่ก็ไม่ชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงจับ แต่บอกว่าเชิญไปคุย เมื่อเราปฏิเสธก็โดนอุ้มไป โดยไม่มีการแจ้งสิทธิ์และแจ้งข้อกล่าวหา

3. ประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองถูกยกเลิกแล้วโดยการออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับทั่วไปเหมือนกัน ตามหลักนิติศาสตร์แล้วกฎหมายใหม่ยอมยกเลิกกฎหมายเก่า จึงนำประกาศฉบับดังกล่าวมาใช้ตั้งข้อหากับพวกเราไม่ได้

4. เราทำกิจกรรมรณรงค์ Vote No มาตั้งแต่วันที่ 6 เมษายนก็ไม่มีใครแจ้งความดำเนินคดี กกต.ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงก็ไม่ดำเนินคดี การที่พนักงานสอบสวนอ้างบทบัญญัติตามพ.ร.บ.ประชามติฯ มาใช้กับเราโดยที่ กกต.ไม่ได้เข้าร้องทุกข์ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย

5. การเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่มีหน้าที่เพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าท่านไม่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องคือท่านไม่ได้ทำตามหน้าที่ มองตาพวกเราสิครับ พวกเราเป็นผู้บริสุทธิ์ แหมพวกเราจะมีวาระสุดท้ายในเรือนจำก็ยืนยันว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ แม้ปืนจะจ่อหัวอยู่ก็ตาม

จากนั้นนันทพงศ์ ปานมาศ หรือ “กุ๊ก” ผู้ต้องหาที่ 13 แถลงต่อว่า สิ่งที่ปวดใจที่สุดคือในวันที่จับกลุ่มมีพยานหลักฐานชัดเจนว่าปลัดอำเภอและทหารยศเรือโทอนุญาตให้แจกใบปลิวได้ ขณะที่พูดผ่านโทรโข่งก็มีคนมาบอกว่าต้องพูดแบบไหน แต่วันนี้กลับถูกพามาศาลทหารโดยถูกพันธนาการด้วยโซ่ตรวน ที่ไม่ขอยื่นประกันตัวเพราะเชื่อในความบริสุทธิ์

นันทพงศ์กล่าวต่อว่า กฎหมายมีไว้เพื่อผดุงความยุติธรรมเนื่องจากเรียนกฎหมายมาก็ตั้งใจว่าจะเป็นนักกฏหมายเพื่อผดุงความยุติธรรม และสาบานว่าสิ่งที่จะพูดต่อไปนี้เป็นเรื่องจริง

นันทพงศ์เล่าถึง ความลำบากในเรือนจำว่าหลายคนป่วยและเป็นโรคผิวหนัง กรกช แสงเย็นพันธุ์ หรือ ปอ ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยและหาเงินส่งที่บ้าน พรุ่งนี้เป็นวันเปิดเรียนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ส่วนตัวมีภารกิจต้องสอบเนติบัณฑิตและทำเรื่องให้จบปริญญาโท การเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐใช้เงินภาษีประชาชน ตนเล่าเรียนก็เพื่อตั้งใจตอบแทนภาษีของประชาชน การออกมาเรียกร้องของพวกตนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้แก่พลเมือง เป็นสิ่งที่พลเมืองควรได้ตั้งแต่เกิดจนถึงเชิงตะกอน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะขอตายในเรือนจำ

นันทพงศ์แถลงปิดท้ายว่าหลังจากนี้จะขออดอาหารประท้วงจนกว่าจะได้รับความเป็นธรรม

ถาวร ปิยะวงศ์รุ่งเรือง ทนายความของผู้ต้องหาที่ 3, 6 และ 10 ถามพนักงานสอบสวนว่า คดีนี้ได้ทำความเห็นทางคดีแล้วใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่าหลังเกิดเรื่องนี้ก็มีคำสั่งแต่งตั้งงานสอบสวนเป็นคณะและก็เร่งรัดทำคดีให้เสร็จภายในฝากที่หนึ่งแล้ว ยังเหลือขั้นตอนอีกเล็กน้อย ผู้บังคับบัญชาขณะนี้ยังไม่มีความเห็นทั้งนี้ตนตอบไม่ได้ว่าใช้เวลากี่วัน ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้

หลังจากนั้นศาลถามว่า ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามเอกสารใช่หรือไม่ ร.ต.อ.วิฑูรย์ ตอบว่า ใช่ ศาลกล่าวว่าข้อเท็จจริงตอนนี้ได้รับข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว และสั่งพักการพิจารณาเพื่อทำคำสั่ง เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น.

เวลาประมาณ 15.20 น. ศาลกลับมาขึ้นบัลลังก์อีกครั้งและอ่านสรุปข้อเท็จจริงที่ได้จากการรับฟังทุกฝ่าย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นและรวบรวมพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ต่อไป

คดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 13 คน โดยมีผู้ที่ขอปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่ฝากขังครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ทั้งหมด 6 คน ได้แก่ รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ ปีใหม่ รัฐวงษา เตือนใจ แวงคำ กรชนก ธนะคูณ วรวุฒิ บุตรมาตร ส่วนผู้ที่ไม่ได้ขอปล่อยตัวชั่วคราวมี 7 คน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม กรกช แสงเย็นพันธ์ อนันต์ โลเกตุ ธีรยุทธ นาขนานรำ ยุทธนา ดาศรี สมสกุล ทองสุกใส และนันทพงศ์ ปานมาศ
.

.

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลทหารยกคำร้องฝากขัง 7 นักกิจกรรม คดีรณรงค์ประชามติ ปล่อยตัวที่เรือนจำพิเศษ กท. เช้าพรุ่งนี้

ถ้อยแถลงการไต่สวนฝากขังขบวนการประชาธิปไตยใหม่จากห้องพิจารณาคดี

ย่ำรุ่งที่หมุดคณะราษฎร สู่พลบค่ำในเรือนจำ: ประมวลสถานการณ์สิทธิฯ วัน 84 ปีอภิวัฒน์สยาม

X