ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน ผู้ต้องหา 7 รายยืนยันไม่ขอประกันตัว

จากกรณีที่นักกิจกรรมจากกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และกลุ่มนักศึกษาจากรามคำแหง จำนวน 13 คน ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจควบคุมตัว จากกรณีแจกแผ่นพับ ใบปลิวและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ บริเวณพื้นที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ และต่อมาถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ข้อ 12 เรื่องชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป (ดู https://goo.gl/SKjj4L)

24 มิ.ย.59 เวลาราว 8.30น. ขณะทนายความกำลังจัดทำเอกสารเพื่อยื่นขอประกันตัว 5 ผู้ต้องหาที่จะขอประกัน ผู้กำกับสภ.บางเสาธง ได้มีคำสั่งใหม่ว่าจะไม่ให้ประกันที่ชั้นตำรวจ แต่ให้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ที่ประสงค์จะยื่นประกันไปที่ศาลทหารกับคนอื่นๆ ด้วย และให้ไปยื่นขอประกันตัวที่ศาล

ต่อมา พนักงานสอบสวนสภ.บางเสาธง ยังได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 13 คน รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากยืนยันว่าพวกตนไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเป็นความผิดตามประกาศ คมช.ฉบับที่ 25/2549 ประกาศนี้ลงวันที่ 29 ก.ย.49 ระบุให้การฝ่าฝืนไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เวลา 12.40 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ออกจากสภ.บางเสาธง ไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ โดยพนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลทหารในการฝากขัง 12 วัน โดยระบุว่าต้องสอบพยานบุคคล 10 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

ขณะเดียวกันทนายความของผู้ต้องหาได้ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน จนเวลา 18.25 น. ศาลทหารได้มีคำสั่งอนุญาตฝากขังทั้ง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องมีการสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

ทางผู้ต้องหา 6 รายจะได้ยื่นขอประกันตัวต่อศาลต่อไป ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.ปีใหม่ รัฐวงษา 4.เตือนใจ แวงคำ 5.กรชนก ธนะคูณ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร

ขณะที่ผู้ต้องหาอีก 7 รายยังยืนยันจะไม่ยื่นประกันตัว 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทำให้จะถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

สำหรับคำร้องคัดค้านการฝากขังของทนายความโดยสรุประบุว่า

1.คำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะการได้อำนาจในการปกครองประเทศมานั้น เป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย

2. คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย ได้รับการรับรองจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นการแสดงออกโดยสงบปราศจากอาวุธจึงเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ  ไม่อาจถูกจำกัดและถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้

3.การประกาศและบังคับใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองโดยแท้ เพราะการออกคำสั่งไม่ได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบของประชาชนเพื่อเข้าจำกัดสิทธิเสรีภาพในการจัดกิจกรรมหรือชุมนุมทางการเมืองตามข้อ 12 การประกาศและบังคับใช้คำสั่งฉบับดังกล่าวจึงมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของคสช. เพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารและแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คสช.อย่างแท้จริง ดังนั้นการใช้สิทธิในการแสดงออกจึงไม่สมควรถูกดำเนินคดีอาญา

4. ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 เรื่องความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของคสช.เท่านั้น ไม่รวมถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย  ประกาศหรือคำสั่งคสช. กับคำสั่งหัวหน้าคสช.ไม่ใช่อย่างเดียวกัน  ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 จึงไม่รวมไปถึงความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ด้วย เมื่อไม่ได้ระบุไว้ต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร ด้วยเหตุนี้ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่มีอำนาจรับฝากขัง

5. คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ไม่ใช่กฎหมายที่ออกมาในระหว่างที่ประเทศมีสภาวะสงครามหรือระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำให้ตามหลักกฎหมายทั่วไปเมื่อกฎหมายใหม่ถูกประกาศออกมาย่อมทำให้กฎหมายเก่ายกเลิกไปโดยปริยาย ดังนั้นถือว่าปัจจุบันคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ได้ถูกยกเลิกและแทนที่โดยพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แล้ว

X