กลไกพิเศษของสหประชาชาติได้รับการร้องเรียน กรณีควบคุมตัวจำเลยคดีม.112 ที่ยาวนานสุด

5 พฤศจิกายน 2561 สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติ (UN Working Group on Arbitrary Detention – UNWGAD) เพื่อให้มีการปล่อยตัวนายสิรภพ (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมโดยพลการแห่งสหประชาชาติได้ตรวจสอบและพบว่าบุคคล 7 ราย ถูก “ควบคุมตัวโดยมิชอบ” ภายใต้คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา

สิรภพ ซึ่งขณะนี้อายุ 55 ปี ถูกควบคุมตัวมากกว่า 4 ปี 4 เดือน แล้ว ถือเป็นการควบคุมตัวที่ยาวนานที่สุดของบุคคลที่ถูกดำเนินคดีหรือตัดสินให้จำคุกภายใต้มาตรา 112 สิรภพถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 ในกรุงเทพฯ และปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โดยศาลทหารกรุงเทพปฏิเสธการให้ประกันตัวกับ สิรภพมาถึง 7 ครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุด คือ ในวันนี้ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 ศาลได้ปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวชั่วคราวของเขาเช่นกัน ทั้งนี้ เขาถูกนำตัวขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพมาตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2557

“การควบคุมและการฟ้องคดีต่อสิรภพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเขาในสิทธิที่จะมีเสรีภาพ เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ได้รับการรับรองไว้ในพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรณีนี้จึงเป็นส่ิงที่ผิดปกติอย่างยิ่ง ว่ามากกว่า 4 ปียังไม่มีสัญญาณว่าการพิจารณาคดีของคุณสิรภพจะสิ้นสุดลง ยิ่งไปกว่านั้นศาลทหารซึ่งเป็นศาลที่ไม่ควรพิจารณาคดีพลเรือนตั้งแต่แรก ได้ปฏิเสธการขอประกันตัวของเขาอย่างต่อเนื่อง” อดีล ราห์เมน คาน (Adilur Rahman Khan) รองประธานของ FIDH

สิรภพถูกควบคุมตัวและฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออก ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาและมาตรา 14 (3) และ 14 (5) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากการโพสต์ข้อความ 3 ข้อความในสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2552 วันที่ 15 ธันวาคม 2556 และวันที่ 22 มกราคม 2557 ตำรวจกล่าวหาว่าการโพสต์บทกวีและการ์ตูนล้อเลียนเหล่านี้เป็นการละเมิดต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 สิรภพถูกควบคุมตัวก่อนการฟ้องคดีเป็นเวลา 84 วันเต็มตามระยะเวลาสูงสุดที่ควบคุมตัวได้ก่อนพิจารณาคดี ก่อนที่คดีของเขาจะเริ่มการพิจารณาในชั้นศาลเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557

“กรณีของสิรภพแสดงให้เห็นว่ายังมีบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ อันเป็นผลมาจากการกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ความเสี่ยงในการควบคุมตัวโดยมิชอบและการฟ้องคดีโดยไม่เป็นธรรมจะยังคงมีในอัตราที่สูงต่อไป จนกว่าจะมีการปฏิรูปมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ” เยาวลักษ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

มาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกในอัตราที่สูงต่อผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บุคคลที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรานี้เผชิญกับโทษจำคุก 15 ปีต่อการทำความผิดต่อหนึ่งครั้ง (กระทงความผิด)

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากลและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวสิรภพในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และยุติการดำเนินคดีต่อเขา ทั้งนี้เรากระตุ้นให้ทางการไทยยุติการนำกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์มาใช้และปล่อยตัวในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 อันเป็นผลมาจากการการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

ตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บุคคลอย่างน้อย 127 คนถูกจับกุมจากการละเมิดมาตรา 112 โดยบุคคล 57 คนจากทั้งหมดถูกพิพากษาให้มีโทษจำคุกอย่างมากที่สุดถึง 35 ปี ปัจจุบันมีบุคคล 6 รายที่อยู่ในเรือนจำจากข้อหานี้

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กลไกของสหประชาชาติหลายองค์กรแสดงความห่วงใยอย่างหนักแน่น ต่อเนื่องถึงการฟ้องคดีเกี่ยวกับกรณีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ การควบคุมตัวเป็นเวลานาน และการลงโทษจำคุกที่ยาวนานในข้อหานี้ สหประชาชาติได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และทำการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว และย้ำเตือนว่าการพรากเสรีภาพที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

 

 

X