น.ศ.ในแคนาดาร่วมรณรงค์ชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เรียกร้องยุติคดีไทยศึกษา

จากกรณีอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ได้สั่งฟ้องคดีนักวิชาการ-นักศึกษา รวม 5 คน กรณีถูกกล่าวหาเรื่องการชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ต่อศาลแขวงเชียงใหม่ ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ขออนุญาตต่อ คสช. และศาลแขวงเชียงใหม่ได้นัดหมายสืบพยานโจทก์คดีนี้ในวันที่ 6-7 ธ.ค. และนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 12-14 ธ.ค. ศกนี้

ก่อนหน้าการสั่งฟ้องคดี เครือข่ายระดับนานาชาติ “นักวิชาการในภาวะเสี่ยง (Scholars At Risk)” ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทางการไทยที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 26 มิ.ย. 61 โดยเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนี้ เนื่องจากเป็นเพียงกรณีการแสดงออกโดยสงบ และเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เครือข่ายยังระบุในจดหมายเปิดผนึกว่าการดำเนินคดีอาญาต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักกิจกรรม ในกรณีนี้ ได้สร้างความกังวลอย่างมาก (serious concerns) ต่อเสรีภาพทางวิชาการ พื้นที่ของการศึกษาขั้นสูง และความเป็นสังคมประชาธิปไตยของประเทศไทย โดยเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยงยังเชิญชวนให้สมาชิกเครือข่ายร่วมกันลงชื่อส่งจดหมายและอีเมล์เรียกร้องต่อทางการไทยให้ยุติคดีดังกล่าวด้วย

ตั้งแต่ในช่วงเดือนต.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา ซึ่งร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยงดังกล่าว ยังได้ร่วมทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีนี้ โดยมีการเชิญชวนนักศึกษาและนักวิชาการ ที่สนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกในกรณีนี้ ร่วมกันถ่ายภาพกับป้ายข้อความ “An Academic Forum is Not a Military Barrack” หรือ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” และร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออก

การรณรงค์ของเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลันคาร์ลตัน ได้มีการเปิดช่องทางสื่อสารทั้งในเพจเฟซบุ๊ก (Petition for Academic Freedom) ทวิตเตอร์ (ThaiSARCU) และอินสตาแกรม (thaisarcu) แต่ละช่องทางมีการโพสต์ภาพนักศึกษาและนักวิชาการที่ร่วมถ่ายภาพกับป้ายข้อความ พร้อมทั้งข้อความให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” หรือกล่าวถึงความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางวิชาการ รวมถึงนำเสนอเรื่องราวในคดีนี้ในช่องทางสื่อสารต่างๆ ด้วย

Tiffany Ocean, นักศึกษาสาขาจิตวิทยาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน “การกระทำของคนทั้งห้าก่อให้เกิดภัยคุกคามต่ออะไรหรือไม่? คำตอบคือไม่เลย ยุติการดำเนินคดีทั้งหมด และสนับสนุนเสรีภาพในการคิดและการแสดงออกเถอะ”

Tia Belisle, นักศึกษาวิชาเอกอาชญาวิทยาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โทภาษามืออเมริกัน มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน “ฉันรู้สึกห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อการสนับสนุนนักวิชาการในประเทศไทย เพราะฉันให้ความสำคัญกับกฎบัตรของเรา และฉันเพียงแต่หวังว่าสิทธิและเสรีภาพจะได้รับความเคารพอย่างเป็นสากล ฉันหวังว่าในอนาคตผู้คนอย่างเช่นนักวิชาการและนักศึกษาทั้ง 5 คนนี้ จะสามารถแสดงออกได้โดยไม่ต้องหวาดกลัวต่อการถูกจองจำ”

Evan Roth, นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 5 มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน

Dr. Melanie Adrian, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน “Human Rights for All”

Carly Glantz, เจ้าหน้าที่ผู้สรรหา และอดีตนักศึกษาด้านธุรกิจนานาชาติ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน “การปิดกั้นของรัฐ และการสอดส่องโดยกองทัพไม่ควรมีพื้นที่อยู่ในเวทีการประชุมทางวิชาการ”

Marija Vuleta, นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ด้านการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน “ฉันยืนยันการสนับสนุนต่อสิทธิในการชุมนุมโดยสงบสันติ”

Emma Houghton, พนักงานขาย “เมื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสากลไม่ได้รับการคุ้มครอง พวกเราก็ร่วมเจ็บปวดไปกับมัน ฉันเรียกร้องให้ประเทศไทยเคารพต่อสิทธิตามกติกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาทุกคน” 
Jaden Abfalter, นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกกฎหมาย และโทปรัชญา “นักวิชาการและนักศึกษาเหล่านั้นได้ยืนหยัดอย่างกล้าหาญเพื่อต่อต้านการกดขี่ เราไม่สามารถเห็นพวกเขาสูญเสียเช่นนี้ได้”

Jessica Holroyd, นักศึกษากฎหมาย นโยบาย และการปกครอง ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน “เสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ใช่สิทธิพิเศษของใครคนใด”

Hajar Furat, นักศึกษาเอกกฎหมายและจิตวิทยาชั้นปีที่ 4 โทประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์ตัน

Neema Rutegeza, นักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน “เสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ต่อรองไม่ได้ ความรู้จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อมันสามารถเผยแพร่ออกไปได้”

Brandy Donkor, นักศึกษาชั้นปีที่ 4 วิชาเอกกฎหมาย และโทศาสนา-ประวัติศาสตร์ “ทั้งบุคคลและกลุ่มต่างๆ ควรจะสามารถแสดงออกถึงความคิดเห็นของตนเองได้โดยไม่ถูกลงโทษ นั่นต่างหากคือสิ่งที่จะทำให้สังคมก้าวหน้าขึ้น”

สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (Scholars At Risk Network) เป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยกว่า 530 แห่ง ใน 41 ประเทศทั่วโลก ซึ่งทำงานสนับสนุนเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการคิด การแสดงออก การสมาคม และการเดินทาง โดยเฉพาะการทำงานติดตามการละเมิดสิทธิเสรีภาพและการคุกคามต่อนักวิชาการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

ส่วนมหาวิทยาลัยคาร์ลตันเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในเมืองออตตาวา เมืองหลวงของประเทศแคนาดา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1942 และได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายของมหาวิทยาลัยในเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยงในปี 2014 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน

จำเลยทั้ง 5 คน ในคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ได้แก่ 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2. นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, 3. นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 4. นายชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5. นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

คดีนี้มี ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เข้าแจ้งความกล่าวหาทั้งห้าคน โดยหลังจากเหตุการณ์ในงานประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 และการกล่าวหาดำเนินคดี ใช้เวลาเกือบ 1 ปี จนอัยการเจ้าของสำนวนและอธิบดีอัยการภาค 5 ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีในที่สุด

 

ดูความเป็นมาและกระบวนการที่เกิดขึ้นของคดีนี้ เมื่อ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” กำลังจะขึ้นสู่ศาล: ทบทวน 1 ปี คดีไทยศึกษาก่อนสั่งฟ้อง

ดูความเคลื่อนไหวคดีล่าสุด ศาลนัดสืบพยานคดี “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ฝ่ายโจทก์ 6-7 ธ.ค.-ฝ่ายจำเลย 12-14 ธ.ค. นี้

 

X