คดีประชามติยังไม่หมด นัดสืบพยานคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” มี.ค.62

23 พ.ย. 61 จำเลยคดี “พูดเพื่อเสรีภาพ” จากการจัดกิจกรรมรณรงค์ก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีนัดตรวจพยานหลักฐานที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร จ.ขอนแก่น โดย ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลยที่ 1 ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น จำเลยคนอื่น ๆ อีก 8 คน ได้แก่ นักศึกษา/นักกิจกรรม เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วย ‘โรม’ รังสิมันต์ โรม ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และณัฐพร อาจหาญ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคสามัญชน เดินทางมาศาลตามนัด

ในส่วนของการตรวจพยานหลักฐาน ทั้งอัยการทหารฝ่ายโจทก์และทนายจำเลยส่งพยานหลักฐานที่จะใช้ในการสืบพยานให้อีกฝ่ายตรวจทั้งหมด ยกเว้นโจทก์ไม่ส่งบันทึกคำให้การที่ระบุที่อยู่ของพยานโจทก์ทุกปาก อัยการทหารแถลงด้วยว่า มีพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ 8 ปาก ประกอบด้วย พ.ต.ต. จิรัฐติกุล จรัสกมลพงศ์ ผู้กล่าวหา, พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารสังกัด มทบ.23 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เข้าสังเกตการณ์และบันทึกภาพกิจกรรมรณรงค์ประชามติ “พูดเพื่อเสรีภาพ” เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 59, รองคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่และไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรม และพนักงานสอบสวนในคดี

ภาพกิจกรรม “พูดเพื่อเสรีภาพ รัฐธรรมนูญกับคนอีสาน?” ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 31 ก.ค.59

ด้านทนายจำเลยแถลงนำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 17 ปาก ประกอบด้วย จำเลยซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานรวม 9 ปาก และพยานผู้เชี่ยวชาญจำนวน 8 ปาก ได้แก่ ผู้เชี่ยวด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตการณ์เลือกตั้ง และการจัดทำประชามติ ศาลถามโจทก์ว่า จะคัดค้านพยานของฝ่ายจำเลยว่า บางปากเป็นพยานที่ฟุ่ยเฟือยหรือไม่ อัยการแถลงไม่คัดค้าน โดยเป็นสิทธิของจำเลยที่จะนำพยานเข้าสืบตามที่เห็นสมควร

ทนายจำเลยยังแถลงถึงแนวทางในการต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 1, 2, 3, 7 และ 9 (จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์, ฉัตรมงคล เจนเชี่ยวชาญ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ และรังสิมันต์ โรม) รับว่าได้อยู่ในที่เกิดเหตุจริง แต่ยืนยันว่าเป็นการใช้เสรีภาพตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559, รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)ให้การรับรอง ส่วนจำเลยที่ 4 ณัฐพร อาจหาญ ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เพียงแต่เข้าไปถ่ายภาพกิจกรรม, จำเลยที่ 5 ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์ และจำเลยที่ 6 นีรนุช เนียมทรัพย์ เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ร่วมกิจกรรม และจำเลยที่ 8 ชาดไท น้อยอุ่นแสน ไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุและไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมเลย

หลังเสร็จการตรวจพยานหลักฐาน ศาลนัดสืบพยานโจทก์ปากแรก พ.ต.ต. จิรัฐติกุล จรัสกมลพงศ์ ผู้กล่าวหา ในวันที่ 4 มี.ค.62 เวลา 08.30 น. โดยศาลจะยังไม่นัดสืบพยานในนัดอื่นไว้ล่วงหน้า เนื่องจากจะมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งของตุลาการ และให้องค์คณะตุลาการที่จะพิจารณาคดีนี้ที่จะย้ายมารับตำแหน่งใหม่เป็นผู้ออกแบบนัดหมายการสืบพยานเอง

คดีนี้อัยการศาล มทบ.23 ได้ยื่นฟ้องจำเลย 8 ราย ในข้อหา ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. เป็นคดีหมายเลขดำที่ 83/2560 เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 61 ต่อมา หลังอายัดตัวโรมหลังเข้ามอบตัวในคดีคนอยากเลือกตั้งที่ สน.ปทุมวัน อัยการได้ยื่นฟ้องโรมเป็นคดีหมายเลขดำที่ 17/2561 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 61 และขอให้ศาลรวมการพิจารณาทั้งสองคดีเนื่องจากจำเลยถูกฟ้องในความผิดเดียวกัน มีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน  เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความสะดวกและรวดเร็ว โดยศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 5 ก.ย.61

 

X