ศาลทหารสั่งรวมคดีประชามติบางเสาธง นัดตรวจพยาน 11 ก.พ. 62

ทนายความและจำเลยในคดีประชามติบางเสาธง

26 พ.ย. 2561ศาลทหารกรุงเทพนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่งรวมคดีตามคำร้องของโจทก์คดี “ประชามติที่บางเสาธง” ซึ่ง นักกิจกรรม นักศึกษาและแรงงานย่านสมุทรปราการจำนวน 11 คน ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, ปลุกระดมขัดกฎหมายประชามติ รวมถึงไม่แสดงบัตรประจำตัวประชาชน

โจทก์ขอให้ศาลรวมทั้ง 4 คดี เนื่องจากจำเลยร่วมกระทำความผิดในคราวเดียวกัน

จำเลย 11 คน จะถูกจับกุมพร้อมกัน แต่ในเวลาต่อมาคดีนี้ได้ถูกแยกฟ้องออกเป็น 4 คดี ดังนี้

1.เลขคดีดำที่ 281/2559 อันมีจำเลย 3 คน คือ สุมนรัตน์ (นามสมมุติ), เตือนใจ (สงวนนามสกุล), กรชนก (สงวนนามสกุล) (อ่านความเป็นมาของคดีนี้เพิ่มเติมได้ที่: จำเลยแจกเอกสารประชามติบางพลีขึ้นศาลทหารขอสู้คดี – ศาลอาญายังไม่อนุญาตประกันคดีแชร์โพสต์หมุดคณะราษฎร)

2.เลขคดีดำที่ 292/2599 จำเลยคือนายรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ

3.เลขคดีดำที่ 161/2560 จำเลยคือนายรังสิมันติ์ โรม

4.เลขคดีดำที่ 18/2561 จำเลยมี 6 คน คือนายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายอนันต์ โลเกตุ, นายธีรยุทร นาขนานรำ, นายยุทธนา ดาศ,รี นายสมสกุล ทองสุกใส, และนายนันทพงศ์ ปานมาศ ซึ่งในคดีนี้ถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นคดีล่าสุดในชุดคดีประชามติบางเสาธง (อ่านที่มาของคดีที่ 3 และ 4 นี้เพิ่มเติมใน: นัดถามคำให้การคดีประชามติบางเสาธง ศาลทหารพยายามไม่บันทึกคำแถลงของจำเลย)

อัยการทหารแถลงว่าจำเลยทั้งหมดร่วมกระทำความผิดในคราวเดียวกัน มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานชุดเดียวกันทั้งหมดกับเลขคดีที่ 281/2559 จึงขอให้ศาลใช้บัญชีพยานที่โจทก์ได้เสนอไปแล้ว และเนื่องจากจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและขอต่อสู้คดี ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตและคู่ความไม่ค้าน โดยศาลให้ทนายจำเลยยื่นบัญชีพยานหลักฐานภายใน 7 วัน ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐาน

นอกจากนี้ทนายฝ่ายจำเลยยังได้ขอแถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีนี้มีกระบวนการที่ยาวนาน อีกทั้งจำเลยมีจำนวนมากซึ่งสร้างภาระในการต่อสู้คดีให้เป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงขอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณาลับหลังจำเลย แต่ศาลยังไม่มีคำสั่งในกรณีนี้

ความเป็นมา “ประชามติบางเสาธง” คดีแรกของชุดคดีประชามติแต่ล่าช้าที่สุด 

คดี “ประชามติบางเสาธง” นี้ ถือเป็นคดีความแรกสุดในชุดคดีการรณรงค์ประชามติเมื่อปี 2559 เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559 นักกิจกรรม นักศึกษาและแรงงาน 13 คน รณรงค์ให้ประชาชนออกไปสิทธิในการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 บริเวณเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมดำเนินคดี

พนักงานสอบสวน สภ.บางเสาธง แจ้งข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2559 มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม เพิ่มเติมต่อผู้ต้องหาทั้ง 13 คน รวมทั้งแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานเพิ่มเติมกับ 8 ผู้ต้องหา ที่ไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ

หลังแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ถูกคุมขังอยู่ที่ สภ.บางเสาธง 1 คืน ก่อนเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจะนำตัวผู้ต้องหาออกจาก สภ.บางเสาธง ไปยังศาลทหารกรุงเทพ เพื่อยื่นขออำนาจศาลทหารในการฝากขังก่อนการพิจารณาคดี 12 วัน โดยระบุว่าต้องสอบพยานบุคคล 10 ปาก และรอผลการตรวจสอบลายนิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา พร้อมกับขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเกรงผู้ต้องหาจะกระทำผิดซ้ำอีก และจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน

ผู้ต้องหาคดีประชามติบางเสาธง ศาลทหาร กรุงเทพ 24 มิ.ย.2559

ขณะเดียวกันทนายความของผู้ต้องหาได้ทำคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน  ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง 13 ผู้ต้องหา ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยยกคำร้องคัดค้านฝากขังเพราะเห็นว่าผู้ต้องหาเพิ่งถูกจับและทำการสอบสวน จึงยังต้องมีการสอบสวนพยานอีกหลายปาก และคำร้องคัดค้านของจำเลยเป็นข้อต่อสู้คดี จึงยกคำร้อง

ผู้ต้องหา 6 ราย ยื่นขอประกันตัวต่อศาลในวันนั้น ได้แก่ 1.รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ 2.พรรณทิพย์ แสงอาทิตย์ 3.สุมนรัตน์ (นามสมมติ) 4.เตือนใจ (สงวนนามสกุล) 5.กรชนก (สงวนนามสกุล) และ 6.วรวุฒิ บุตรมาตร

ส่วนอีก 7 รายยังยืนยันจะไม่ยื่นประกันตัว ได้แก่ 1.ยุทธนา ดาศรี 2.ธีรยุทธ นาขนานรำ 3.อนันต์ โลเกตุ 4.สมสกุล ทองสุกใส 5.กรกช แสงเย็นพันธ์ 6.นันทพงศ์ ปานมาศ 7.รังสิมันต์ โรม ทำให้ถูกส่งเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ (อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมใน: ศาลทหารอนุญาตฝากขัง 13 นักกิจกรรมแจกเอกสารโหวตโน ผู้ต้องหา 7 รายยืนยันไม่ขอประกันตัว)

ต่อมา อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องคดีจำเลย 11 คน โดยระบุว่า จำเลยได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงและแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงในเนื่อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และชักชวนประชาชนมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง อันเป็นการร่วมกระทำการก่อความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่แสดงบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อเจ้าพนักงานขอตรวจบัตร

ทั้งนี้ อัยการทหารยังได้ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยเป็นเวลา 10 ปี ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 อีกด้วย

ภายหลังมีคำสั่งรวมคดี ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 ก.พ. 62 เวลา 9.00 น.

 

X