คดีที่ 7 ทนายอานนท์รับทราบข้อหาดูหมิ่นศาล+พ.ร.บ.คอมฯ

คดีที่ 7 ทนายอานนท์รับทราบข้อหาดูหมิ่นศาล+พ.ร.บ.คอมฯ

10 ม.ค. 2561 อานนท์ นำภา ทนายความอาสาของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ฐานดูหมิ่นศาลและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดขอนแก่น

ประมาณ 10.00 น. อานนท์พร้อมเพื่อนทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายนักกฎหมายที่ทำงานในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนประมาณ 40 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม และ พ.ต.ท.อธิลักษณ์ หวังสิริวรกุล พนักงานสอบสวน ปอท. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฐานดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) จากโพสต์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ

ก่อนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา อานนท์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยืนยันว่าที่ตนโพสต์เป็นการแสดงความคิดเห็นแน่นอน และคนที่ติดตามเฟซบุ๊กทราบอยู่แล้วว่าไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายและ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ

“การถูกดำเนินคดีแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้นหรือต้องเปลี่ยนบทบาท เป็นเหมือนยาชูกำลังให้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องมากกว่า” อานนท์กล่าว

เมื่อเข้าพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน กก.3 บก.ปอท. ตรวจพบว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 เฟซบุ๊กชื่อ “อานนท์ นำภา” โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย ข้อความว่า

“ศาลทำตัวเองแท้ๆ ถ้าการทำหน้าที่ของท่านจะถูกชาวบ้านชื่นชมหรือดูแคลน พึงรู้ไว้ว่ามันเกิดจากท่านทำตัวท่านเอง ผมหมายถึงศาลจังหวัดขอนแก่นนั่นหล่ะครับ” และ ““ ทั้งยังสั่งห้ามคบค้าสมาคม….” ศาลเอาอำนาจอะไรไปสั่งใครห้ามคบกับใคร ตลกจริงๆ” พร้อม URL ของเว็บไซต์ประชาไท

พนักงานสอบสวนเห็นว่า การนำข้อความบางส่วนบางตอนมาโพสต์ข้างต้น ทำให้ผู้อ่านเชื่อว่าศาลไม่มีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ ซึ่งในความเป็นจริงศาลสามารถสั่งกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติได้ โดยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้ให้อำนาจไว้ ในเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดใน (3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก จึงถือว่าข้อความดังกล่าวที่โพสต์เป็นข้อมูลเท็จ

นอกจากนี้ หลังจากโพสต์ไปแล้วมีผู้มาแสดงความเห็นในเชิงที่ดูหมิ่นศาล ด่าศาล ซึ่งมีลักษณะคล้อยตามในสิ่งที่ผู้โพสต์ต้องการจะสื่อว่า ศาลไม่มีอำนาจในการสั่งห้ามคบค้าสมาคม ถือว่าข้อมูลเท็จดังกล่าวส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ในลักษณะที่ว่าศาลลุแก่อำนาจ ที่ไปสั่งห้ามคบค้าสมาคม และทำให้ผู้ที่ได้อ่านเกิดความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงมาแสดงความเห็นในลักษณะที่ด่าและดูหมิ่นศาล ซึ่งเป็นผลจากการที่เกิดความตื่นตระหนกนั้น

โพสต์ดังกล่าวมีผู้มาแสดงความรู้สึกมากถึง 1,000 คน และมีคนแชร์หรือส่งต่อโพสต์ดังกล่าวเป็นจำนวนถึง 45 คน ซึ่งอาจจะมีคนที่ได้อ่านโพสต์นั้นจากผู้ที่แชร์หรือส่งต่ออีกเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า จะมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากได้รับข้อมูลเท็จ และทำให้เกิดความตื่นตระหนกอย่างเป็นวงกว้าง

เบื้องต้น อานนท์ยอมรับว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของตนจริง แต่ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน โดยจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายในวันที่ 10 ก.พ. 2561

พนักงานสอบสวน ปอท. ปล่อยตัวอานนท์โดยไม่เรียกหลักประกัน แต่มีเงื่อนไขให้มารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 22 ม.ค., 2, 15, และ 27 ก.พ. 2561 เวลา 10.00 น.

ด้านสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อ่านแถลงการณ์แสดงถึงความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจ ดังต่อไปนี้

1. ความผิดฐานดูหมิ่นศาล มีเจตนารมณ์เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเรียบร้อยไม่ถูกขัดขวาง และเพื่อให้ศาลหรือผู้พิพากษาได้รับความคุ้มครองให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และเป็นธรรม ผู้เสียหายหรือผู้กล่าวหาจึงควรเป็นศาลหรือผู้พิพากษา แต่กรณีนี้กลับเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้กล่าวหา จึงมีคำถามว่า กรณีนี้ศาลหรือผู้พิพากษาเองมีความประสงค์จะดำเนินคดีหรือไม่

2. การใช้การตีความกฎหมายต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับที่ผ่านมา รวมถึงฉบับปัจจุบันได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยวางหลักการไว้ว่า การใช้อำนาจรัฐต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วยเสมอ การใช้การตีความกฎหมายอาญาของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัดและใช้ด้วยระมัดระวัง มิเช่นนั้นแล้วกฎหมายจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพและรังแกกลั่นแกล้งประชาชน

3. การใช้การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด การที่จะกล่าวหาบุคคลใดว่ามีความผิดอาญาดังเช่น ความผิดฐานดูหมิ่นศาลนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่ามีการใช้ถ้อยคำที่เป็นการดูหมิ่นศาล ซึ่งในทางวิชาการการดูหมิ่น หมายถึง การกระทำอันเป็นการเหยียดหยาม ลดคุณค่าของศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี เช่น กล่าวหาว่าผู้พิพากษารับสินบนจึงทำให้ตนแพ้คดี หรือกล่าวหาว่าผู้พิพากษาลำเอียงไม่มีความยุติธรรมในการพิจารณาคดีของตน เป็นต้น หากยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องไม่ใช้อำนาจไปดำเนินคดี ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการตีความกฎหมายอาญาโดยขยายความออกไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการตีความกฎหมายอาญา

4. การใช้การตีความกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐต้องกระทำโดยสุจริต เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะ การใช้อำนาจย่อมต้องมุ่งประโยชน์สาธารณะเป็นหลักโดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่อาจมีความรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ดังนั้น การบังคับใช้และการตีความกฎหมายอาญาเพื่อดำเนินคดีกับบุคคลใดจะต้องมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เพียงพอ และสามารถแสดงเห็นหรืออธิบายได้อย่างชัดแจ้งและมีเหตุผลว่าการกระทำตามข้อเท็จจริงนั้นฝ่าฝืนกฎหมายใดอย่างชัดเจน

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ ได้เป็นตัวแทนของนักกฎหมายและทนายความที่มาให้กำลังใจ อ่านแถลงการณ์แสดงถึงความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าพนักงานตำรวจ (ภาพโดย Banrasdr Photo)

การดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับนายอานนท์ นำภา รวมทั้งทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ทนายความเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ ทนายศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายความของนักศึกษากลุ่มดาวดินและกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ตลอดจนการดำเนินคดีกับชาวบ้านและนักเคลื่อนไหวที่ออกมาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยตลอดระยะที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นการเคลื่อนไหว การแสดงออก การชุมนุมอย่างสันติ แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่าเป็นการบังคับใช้และตีความกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้กฎหมายที่มุ่งจะยับยั้งการแสดงออก การมีส่วนร่วมหรือขัดขวางการทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติหน้าที่ทนายความ

ดังนั้น การดำเนินคดีในลักษณะเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งทนายความ ตำรวจ อัยการและศาล รวมทั้งประชาชนทั่วไป ต้องให้ความสำคัญและติดตามตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้และตีความกฎหมายให้ถูกต้องและเป็นธรรม

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของตนเองหรือชุมชน และทนายความสามารถใช้ความรู้ความสามารถและวิชาชีพปกป้องสิทธิของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากทนายความไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ประชาชนที่ตกเป็นลูกความก็ย่อมไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมและปกป้องสิทธิของตนเองได้ จึงอาจกล่าวได้ว่า “การละเมิดสิทธิเสรีภาพของทนายความ คือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน” ซึ่งสังคมไทยต้องไม่ยินยอมให้เกิดขึ้น

ด้านสมชาย หอมละออ ที่ปรึกษาสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ถึงทนายอานนท์ว่า คดีนี้เป็นการดำเนินคดีเพื่อปิดปากเพื่อเป็นตัวอย่างห้ามทำกิจกรรม ทนายอานนท์ถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่อาชญากรรม หวังว่าทั้งพนักงานสอบสวน อัยการ และรวมถึงศาลจะเข้าใจเรื่องนี้

“ที่น่าสังเกตคือผู้ที่แจ้งความกล่าวโทษ ปกติจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล แต่กรณีนี้ผู้ที่แจ้งความเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งอาจจะมีข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จับตาดูการเคลื่อนไหว เราก็เลยสงสัยว่าวัตถุประสงค์ในการดำเนินคดีนี้น่าจะเป็นการดำเนินคดีปิดปาก คือไม่ต้องการให้อานนท์เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมหรือคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป และอาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้กับทนายความคนอื่นๆ และนักกิจกรรมอื่นๆ ว่านี่เป็นตัวอย่างว่าไม่ควรทำอย่างนี้อีก และหากทำอย่างนี้อีกก็จะถูกดำเนินคดีแบบเดียวกับอานนท์ มีลักษณะเป็นการข่มขู่นักกิจกรรมหรือผู้ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน” สมชายกล่าว

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 7 ของอานนท์ นำภา ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกตั้งข้อหาจากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่รัก (ลัก) 2 คดี ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากกิจกรรมยืนเฉยๆ 2 คดี ข้อหาชุมนุมทางการเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ในคดีส่องโกงราชภักดิ์ 1 คดี และถูกปรับจากความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงอีกคดี

X